กรุงเทพฯ 27 ก.พ. – วันนี้จะพาไปชมห้องปลูกกัญชาเพื่อการแพทย์ที่ถูกกฎหมายแห่งแรกของอาเซียน ปลูกโดยใช้ระบบรากลอย ป้องกันการปนเปื้อนสารพิษ คาดลอตแรกจะนำมาสกัดเป็นน้ำมันกัญชาได้กลางปีนี้
ห้องขนาด 100 ตารางเมตร ในองค์การเภสัชกรรม ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ถูกใช้เป็นสถานที่ปลูกกัญชาเพื่อการแพทย์แห่งแรกของไทย เพื่อผลิตเป็นยาจากกัญชา ชนิดน้ำมันหยดใต้ลิ้น สำหรับนำไปทดลองทางคลินิกในผู้ป่วยที่ร่วมโครงการวิจัย
การปลูกครั้งนี้นำเข้าเมล็ดกัญชา สายพันธุ์อินดิกา จากฝรั่งเศส กว่า 300 เมล็ด และนำมาปลูกในอาคารด้วยระบบรากลอย ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการปลูกกัญชาตามมาตรฐานทางการแพทย์ การปลูกแบบนี้จะตัดโอกาสที่กัญชาจะปนเปื้อนสารโลหะหนักและยาปราบศัตรูพืช การปลูกในห้องจะใช้แสงเป็นตัวควบคุมการเจริญเติบโต และใช้วิธีการพ่นน้ำในอากาศ เพื่อเป็นปุ๋ยให้กัญชา
ผู้พัฒนาสายพันธุ์กัญชา ให้เหตุผลที่ต้องนำเข้าเมล็ดกัญชาจากต่างประเทศ แทนที่จะใช้สายพันธุ์ไทยซาติวา ซึ่งมีในประเทศอยู่แล้ว เพราะสายพันธุ์ไทยซาติวา มีปริมาณสาร THC สูงกว่าสาร CBD ทำให้อาจไม่เหมาะกับบางโรค
การปลูกกัญชาในรอบแรกนี้ จะใช้เวลาปลูกประมาณ 3-4 เดือน ซึ่งกลางปีนี้คาดว่าจะนำกัญชาที่ปลูกมาทำเป็นสารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์ และผลิตเป็นน้ำมันกัญชาชนิดหยดใต้ลิ้น ประมาณ 2,500 ขวด ขวดละ 5 มิลลิลิตร เพื่อแจกจ่ายให้ผู้ที่เข้าร่วมโครงการในหลายกลุ่มโรค เช่น ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด โรคลมชัก และกลุ่มที่อาจใช้เพื่อควบคุมอาการ อย่างโรคพาร์กินสัน อัลไซเมอร์ ผู้ป่วยที่ดูแลแบบประคับประคอง และผู้ป่วยมะเร็ง
การปลูกกัญชาเพื่อการแพทย์ครั้งนี้ องค์การเภสัชกรรม ต้องขออนุญาตจากสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และต้องปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยทุกขั้นตอน เช่น การรักษาความปลอดภัยในและนอกอาคาร มีการติดตั้งกล้องวงจรปิด เพื่อดูความเคลื่อนไหวตลอด 24 ชั่วโมง และมีการสแกนลายนิ้วมือ จำกัดคนเข้า-ออกอย่างเข้มข้น
หลังจากนี้ผู้ที่จะปลูกหรือผลิตสารสกัดจากกัญชา องค์การเภสัชกรรม ยืนยันว่า ใน 5 ปีแรกต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด คือ จะต้องมีการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนกับภาครัฐ เช่น มหาวิทยาลัยของรัฐเท่านั้น ไม่สามารถปลูกแบบเสรีได้ เพราะยังติดเรื่องอนุสัญญาว่าด้วยยาเสพติดกับยูเอ็น ส่วนการส่งออกไปขายต่างประเทศก็จำเป็นต้องทำให้ได้มาตรฐาน ขณะที่ต้นทุนของโรงเรือนที่ใช้ปลูกที่มีราคาสูง หลังจากนี้จะมีการหารือร่วมกัน อาจปรับเปลี่ยนลักษณะการปลูกให้เหมาะสม แต่ไม่ปิดกั้นโอกาสของเกษตรกรที่สนใจ. – สำนักข่าวไทย