สำนักข่าวไทย 25 กพ..- กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนระมัดระวังฝนตกและลมกระโชกแรงในช่วงวันที่ 25-27 ก.พ. หลีกเลี่ยงอยู่ใกล้ต้นไม้สูงใหญ่ ป้ายโฆษณา อาจเกิดฟ้าผ่าได้ และไม่ควรขับรถฝ่าฝนในช่วงเวลาดังกล่าว
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 25-27 ก.พ. นี้ ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงบางแห่ง และอาจเกิดฟ้าผ่าได้ กรมควบคุมโรคขอแนะนำวิธีการป้องกันอันตรายจากการถูกฟ้าผ่า ดังนี้ 1.หลีกเลี่ยงอยู่กลางแจ้งในขณะฝนตกฟ้าคะนอง รวมทั้งหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ต้นไม้สูง เสาไฟฟ้า ป้ายโฆษณา 2.ควรหลบในตัวอาคารที่ติดตั้งสายล่อฟ้า จะช่วยป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่า ไม่ควรใช้โทรศัพท์ เปิดคอมพิวเตอร์ เล่นอินเตอร์เน็ต ดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุ หรืออยู่ใกล้ประตูหน้าต่างที่มีส่วนประกอบเป็นโลหะในขณะฟ้าร้องฟ้าผ่า 3.หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด เพราะกระแสไฟจากฟ้าผ่าอาจไหลผ่านเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือสื่อไฟฟ้าต่างๆ ทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ และ 4.กรณีอยู่ในรถ ควรปิดกระจกทุกบาน และไม่ควรออกจากรถโดยเด็ดขาด
นอกจากนี้ขอให้ประชาชนระวังอุบัติเหตุจากการขับรถในช่วงที่มีฝนตกและลมกระโชกแรง ทำให้ ทัศนวิสัยในการมองเห็นไม่ดี ควรหลีกเลี่ยงการขับรถฝ่าฝน โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ ผู้ขับขี่ควรปฏิบัติ 7 วิธีขับขี่ให้ปลอดภัย ดังนี้ 1.เปิดไฟหน้ารถ เพื่อช่วยให้มองเห็นชัดเจนขึ้น และให้รถคันอื่นมองเห็นได้จากระยะไกล 2.เปิดใบปัดน้ำฝน และควรปรับระดับความเร็วใบปัดน้ำฝนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ 3.ลดความเร็ว เพื่อเพิ่มความระมัดระวังให้มากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะบริเวณทางโค้ง เพราะมีน้ำขัง และทำให้รถลื่นไถลหรือเหินน้ำ ปฏิบัติตามป้ายจำกัดความเร็วอย่างเคร่งครัด 4.ให้ทิ้งระยะห่างจากคันหน้า เพราะสภาพถนนที่เปียกลื่น ต้องใช้ระยะทางในการหยุดรถเพิ่มขึ้น 5.หลีกเลี่ยงการแซง แต่หากจำเป็น ต้องประเมินสถานการณ์ ระยะทางข้างหน้า 6.กรณีรถลื่นไถลหรือเหินน้ำ ห้ามเหยียบเบรกจนล้อหยุดหมุนในทันที เพราะอาจทำให้รถพลิกคว่ำได้ ควรลดความเร็ว ใช้เกียร์ต่ำ จนกว่ารถจะทรงตัวได้ แล้วจึงค่อยเหยียบเบรกเพื่อหยุดรถ และ 7.เมื่อต้องขับรถผ่านน้ำท่วมขัง ให้หยุดประเมินสถานการณ์ หากระดับน้ำลึกสูงกว่าขอบประตูรถ ไม่ควรขับฝ่าไป ควรเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่น
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับการช่วยเหลือผู้ถูกฟ้าผ่าและผู้ประสบอุบัติเหตุ ต้องช่วยอย่างรวดเร็ว โดยประเมินสถานการณ์ความปลอดภัยของที่เกิดเหตุ และโทรขอความช่วยเหลือจากศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน เบอร์ 1669 พร้อมแจ้งข้อมูลผู้ประสบอุบัติเหตุ และสถานที่เกิดเหตุ ประเมินการหายใจและการเต้นของหัวใจ ถ้าไม่หายใจและหัวใจหยุดเต้น ให้รีบช่วยชีวิตทันทีโดยการกดหน้าอกในตำแหน่งตรงกลางให้ได้ประมาณ 100 ครั้งต่อนาที ลึกลงไปอย่างน้อย 2 นิ้ว จนกว่าหัวใจจะเต้น คลำชีพจรได้ หรือจนกว่าจะมีหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉินมาช่วย แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422.-สำนักข่าวไทย