บุรีรัมย์ 31 ส.ค.-นายกสมาคมชาวสวนยางบุรีรัมย์ ยอมรับเกิดผลกระทบแน่ หาก 2 บริษัทผลิตยางรถยนต์ยักษ์ใหญ่ไม่รับซื้อยางพาราจากภาคอีสาน เพราะคุณภาพยางต่ำจากการใส่กรดซัลฟิวริกในน้ำยาง แต่คงเป็นผลกระทบในช่วงสั้นๆ เท่านั้น เตรียมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางแก้ไข พร้อมเร่งรณรงค์ให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนหันมาใช้กรดฟอร์มิก ให้ตรงกับความต้องการตลาด
นายวิชิต ลี้ประเสริฐ นายกสมาคมชาวสวนยางจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวถึงกรณีที่ 2 บริษัทผลิตยางรถยนต์ระดับโลก ประกาศไม่รับซื้อยางพาราในพื้นที่ภาคอีสานของไทย หลังพบใส่กรดซัลฟิวริกในน้ำยาง เพื่อช่วยให้น้ำยางแข็งตัวเร็วขึ้น แต่ส่งผลต่อคุณภาพยางล้อรถยนต์เสื่อมสภาพเร็ว ว่า หาก 2 บริษัทดังกล่าวหยุดรับซื้อยางของภาคอีสานจริง ยอมรับว่าจะส่งผลกระทบกับเกษตรกรชาวสวนยางอย่างแน่นอน เพราะไม่สามารถขายน้ำยางหรือยางแผ่นได้ แต่อาจจะเป็นผลกระทบในช่วงสั้นๆ เท่านั้น เพราะการปรับเปลี่ยนจากการใช้กรดซัลฟัวริก ไปเป็นกรดฟอร์มิก แทนเพื่อให้น้ำยางหรือยางแผ่นมีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด สามารถปรับเปลี่ยนได้ไม่ยาก แต่เกษตรกรอาจมีต้นทุนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
นายวิชิต กล่าวว่า กรณีดังกล่าวทางสมาคมฯ จะได้หารือกับสมาชิก รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง สกย. สถาบันวิจัยยาง หรือการยางแห่งประเทศไทยในพื้นที่จังหวัด เพื่อเร่งหาแนวทางแก้ไขและรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรหันมาปรับเปลี่ยนการใช้กรดในน้ำยางโดยเร็ว เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น
นายกสมาคมชาวสวนยางจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวอีกว่า จากข้อมูลพบว่ายังมีเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราบางส่วนที่ยังใช้กรดซัลฟัวริกในน้ำยาง เนื่องจากมีราคาถูกกว่ากรดฟอร์มิก แต่ส่วนใหญ่ก็จะใช้กับยางก้อนถ้วยมากกว่า ส่วนเกษตรกรที่ทำยางแผ่นได้หันมาใช้กรดฟอร์มิก ตามที่ สกย. และสถาบันวิจัยยางได้ออกมาแนะนำให้ความรู้ก่อนหน้านี้ ดังนั้น เมื่อมีกระแสข่าวดังกล่าวเกษตรกรเองก็จะต้องปรับเปลี่ยนการผลิตยางให้มีคุณภาพและตรงตามความต้องการของตลาดมากขึ้น เพื่อประโยชน์ของเกษตรกรเอง
สำหรับในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ มีเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา รวมกว่า 13,000 ครัวเรือน มีพื้นที่ปลูกกว่า 276,700 ไร่ เปิดกรีดแล้ว 202,308 ไร่ แต่ละปีมีผลผลิตกว่า 69,000 ตัน สร้างรายได้เฉลี่ยปีละกว่า 3,400 ล้านบาท หรือขึ้นอยู่กับภาวะราคายางที่รับซื้อ.-สำนักข่าวไทย