จีน 31 ม.ค. – หนักข้อขึ้นทุกวัน จีนเผย 7 วิธีแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 เห็นผลระยะยาว
ประเทศจีนในหลายปีที่ผ่านมานี้ประสบกับสภาวะอากาศเป็นพิษอย่างหนักหนาสาหัส โดยเฉพาะช่วงปี 2013-2016 ที่ระดับฝุ่นละออง PM 2.5 สูงถึง 500-600 อยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะหน้าหนาว ประชาชนที่นี่ใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นออกจากบ้านกันเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะในวันที่มีการแจ้งเตือนระดับมลพิษอยู่ในขั้นรุนแรง การใช้ชีวิตปกติของคนที่นี่ คือ ออกจากบ้านใส่หน้ากาก อยู่บ้านเปิดที่กรองอากาศ วันที่มลพิษรุนแรงมีการรณรงค์การดูแลตัวเองที่ถูกต้องคือ หลังจากกลับถึงบ้านรีบถอดเปลี่ยนเสื้อผ้า ล้างมือ ล้างหน้า ล้างจมูก สระผม และอาบน้ำทันที
ในวันที่มลภาวะในอากาศรุนแรง หากเป็นไปได้ควรใส่เสื้อผ้าให้มิดชิดให้ผิวสัมผัสกับอากาศภายนอกให้น้อยที่สุด เนื่องจากมลพิษในอากาศจีนรุนแรงมาเป็นระยะเวลานานและการแก้ปัญหาต้องแก้ที่ต้นเหตุซึ่งก็ไม่ใช่ในระยะเวลาอันสั้นที่จะแก้ได้ ต้องใช้มาตราการต่างๆ มากมายเข้ามาควบคุม โดยเฉพาะต้นเหตุจากการกระทำของมนุษย์
มลภาวะฝุ่นละออง PM 2.5 ในจีนเขตที่รุนแรงคือ แถบปักกิ่งและมณฑลเหอเป่ย โดยเฉพาะในพื้นที่เหอเป่ยนั่นเป็นโรงงานอุตสาหกรรมหนักซะเยอะ ส่วนปักกิ่งอยู่ตรงกลางของมณฑลเหอเป่ย ในด้านของภูมิศาสตร์ของปักกิ่งเองไม่ใช่ที่เนินสูง เป็นพื้นที่ราบ ดังนั้นการระบายอากาศภายในพื้นที่ค่อนข้างลำบากอยู่แล้ว
โดยหลังปี 2013 เป็นต้นมาจีนเริ่มให้ความสนใจกับมลภาวะฝุ่นละออง PM 2.5 ในอากาศและประชาชนเริ่มมีการตื่นตัวมากขึ้นที่จะหาวิธีป้องกันตัวเอง ตั้งแต่นั้นมารัฐบาลจีนเริ่มที่จะมีมาตราการต่อสู้กับมลภาวะอย่างจริงจังเพราะปัญหานี้ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ชีวิตและความปลอดภัยของประชาชน
จนถึงสิ้นปี 2016 วิกฤติ PM 2.5 ในจีนกินพื้นที่ทั้งหมด 1 ล้านตารางกิโลเมตร มีหลายเมืองในประเทศประสบกับภาวะ PM 2.5 อยู่ในขั้นรุนแรง ต้นเหตุของของฝุ่นละอองในอากาศในจีนนั้น สาเหตุแตกต่างกันตามแต่ละพื้นที่ เช่น ปักกิ่ง 22% มาจากควันเขม่ารถยนต์ 25% มาจากผลกระทบจากพื้นที่โดยรอบจากมณฑลเหอเป่ย 16% มาจากฝุ่นละอองจากการพ่นสีหรือฝุ่นจากการผลิตในการอุตสาหกรรม 16% มาจากฝุ่นฟุ้งจากสถานที่ก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ 17% มาจากโรงงานผลิตไฟฟ้าและการเผาเตาถ่าน ที่เหลือ 4% มาจากสาเหตุอื่นๆ
วิธีที่รัฐบาลจีนใช้รับมือแก้ปัญหาโดยสรุปคร่าวๆ มีดังนี้
1. ปี 2013 รัฐบาลจีนออกหนังสือประกาศ “2013-2017 Clean air action plan” มีมาตรการหลักคือ ลดการใช้ถ่านหินเปลี่ยนเป็นพลังงานทดแทน เน้นอากาศสะอาด จะมีแต่นโยบายไม่มีเงินสนับสนุนเป็นจริงได้ยาก ดังนั้นรัฐบาลอนุมัติเงินลงมาเพื่อนโยบายนี้จำนวน 7.6 แสนล้านหยวนเพื่อภารกิจลดมลภาวะนี้โดยเฉพาะ
2. เตาเผาถ่านหินแบบเก่าที่มีควันและสร้างมลพิษในปักกิ่งและเมืองโดยรอบจำนวน 2.15 ล้านเครื่องเปลี่ยนเป็นเตาคุณภาพสูงไร้ควัน ทั้งนี้หัวหน้าในเขตต่างๆ ของเมืองปักกิ่ง ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีพร้อมทั้งได้เชิญบริษัทเอกชนแนวหน้าที่มีความเชี่ยวชาญในด้านพลังงานสะอาดเข้ามาให้คำแนะนำและทยอยเปลี่ยนเตาประหยัดพลังงานจนเตาแบบเก่าหมดไป
3. จัดตั้งหน่วยงานตำรวจสิ่งแวดล้อม เพื่อดำเนินตรวจสอบโรงงานต่างๆ อย่างเคร่งครัด และต้องควบคุมตรวจสอบอยู่เสมอ หากพบว่า ผิดข้อกำหนดก็จะสั่งปิดหรือปรับเงินจำนวนมาก
4. ปิดโรงงานหนักในบริเวณที่อยู่รอบเมืองปักกิ่ง สำหรับโรงงานของรัฐออกคำสั่งให้ย้ายฐานไปที่อื่นแทน
5. ควบคุมรถยนต์ดีเซลและรถยนต์เก่าที่วิ่งบนท้องถนน สนับสนุนรถยนต์พลังงานสะอาด จำกัดปริมาณรถยนต์ที่วิ่งบนท้องถนน โดยใช้มาตรการจำกัดหมายเลขทะเบียนรถที่ออกมาวิ่งแต่ละวัน การให้ทะเบียนรถยนต์ในปักกิ่งก็มีการควบคุม ใช้วิธีจับฉลากซึ่งป้ายทะเบียนที่ปล่อยออกมาแต่ละปีมีน้อยมากหากเทียบกับจำนวนคนที่ลงทะเบียนขอป้าย
6. การควบคุมสิ่งก่อสร้าง ในวันที่ฝุ่นละออง PM 2.5 อยู่ในระดับสูง รัฐจะออกคำสั่งให้หยุดการก่อสร้าง ทันที ในเขตเหอเป่ยใกล้ปักกิ่งบางพื้นที่ ใน 1 ปีจะดำเนินการก่อสร้างได้ 8 เดือน ที่เหลือ 4 เดือนช่วงฤดูหนาวต้องหยุดการก่อสร้าง
7. การติดตามงานอย่างใกล้ชิด มีหน่วยสถิติขึ้นมาทำการติดตามงานก่อนหลัง ประเมินสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิดและถูกต้อง
จากความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะแก้ปัญหาทำให้สองปีที่ผ่านมานี้โดยเฉพาะปี 2018 อากาศโดยรวมของกรุงปักกิ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น หน้าหนาวจำนวนวันที่อากาศมีมลพิษสูงลดจำนวนวันลง
รองผู้อำนวยการศูนย์ตรวจสอบการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ณ กรุงปักกิ่ง นายหลิว เป่า เสียน กล่าวว่า “ในปี 2018 ทั้งปีจำนวนวันที่มีคุณภาพอากาศอยู่ในระดับดี มีจำนวน 227 วัน คิดเป็น 62.2% และมีวันที่มีอากาศย่ำแย่ ระดับฝุ่นละออง PM 2.5 เข้มข้นเกินกว่า 250 ไมโครกรัมต่อลูกบาศเมตรมีจำนวน 15 วัน น้อยลงกว่าปี 2017 จำนวน 9 วัน และตั้งแต่ 6 ปีที่ผ่านมาจำนวนวันที่มีฝุ่นละออง PM 2.5 เข้มข้นลดลงอย่างต่อเนื่อง”
การที่จะให้ฝุ่นละอองในอากาศ PM2.5 กระจายออกไปหากจะพึ่งพิงแต่วิธีธรรมชาติ อย่างรอวันที่มีลมแรง หรือรอวันที่มีความกดอากาศหนาวเข้ามาอย่างเดียวคงไม่ได้ สิ่งที่มนุษย์จะป้องกันและแก้ปัญหาได้ก็ควรทำ การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่งานระยะสั้น และจะแก้ปัญหาเพียงแค่ปลายเหตุคงไม่ได้ ฝุ่นละอองในอากาศ PM2.5 จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนโดยทั่วหน้าและเป็นปัญหาสะสมระยะยาว ตอนนี้จีนเริ่มออกรายงานผลกระทบฝุ่นละอองในอากาศต่อปัญหาสุขภาพ เช่น การเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยมะเร็งปอด เป็นต้น
รัฐบาลจีนมีการตัดสินใจที่เด็ดขาดและมีความต่อเนื่อง อนุมัติเงินลงมาจำนวนมหาศาลเพื่อการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมนี้ ทำให้ 2 ปีที่ผ่านมาคุณภาพของอากาศในปักกิ่งเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งนี้คุณภาพชีวิตของประชาชนก็ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา และ 2019 นี้รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะลดจำนวนวันที่อากาศเป็นพิษลงไปอีก .- สำนักข่าวไทย