เมืองทองธานี 28 ม.ค. – รองนายกรัฐมนตรีกำชับช่วยลดต้นทุนเกษตรกร หนุนสินค้าชุมชน มุ่งสู่ตลาดออนไลน์ ดึงสหกรณ์การเกษตร และ SMAE เป็นหัวขบวนนำการเปลี่ยนแปลง ขู่ข้าราชการเกียร์ว่างช่วงเตรียมเลือกตั้ง
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ร่วมปาฐกถาพิเศษ ในงาน “สานพลัง ปฏิรูปภาคเกษตรไทย” ในโอกาสครบรอบ 52 ปี ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยมีผู้แทนเกษตรกร เกษตรกรรุ่นใหม่ สหกรณ์การเกษตร ผู้ประกอบการเกษตรจากทั่วประเทศ มาร่วมงาน นายสมคิดย้ำว่า ภาคเกษตรยุคนี้ต้องปฏิรูปให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยการนำสหกรณ์ที่มีความเข้มแข็ง และผู้ประกอบการภาคเกษตร (SMAEs) ช่วยกันยกระดับเกษตรกร เพื่อโน้มน้าวชาวบ้านให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะภาคเกษตรมีชาวบ้านถึง 30 ล้านคน แต่กลับมีสัดส่วนทางเศรษฐกิจ (GDP) เพียงร้อยละ 8 จึงต้องยกระดับเกษตรเพิ่มมูลค่าการผลิต การพัฒนาตลาดออนไลน์ ต้องทำอย่างจริงจัง นอกจากนี้ ต้องการให้กระทรวงเกษตรฯ ช่วยลดต้นทุนให้เกษตรกร โดยเฉพาะปุ๋ยเป็นต้นทุนถึงร้อยละ 30 ของต้นทุนการผลิต จึงต้องหาทางลดภาระและลดความเสี่ยง เพราะให้นโยบายเรื่องนี้ไปแล้ว 2 ปี ยังเงียบอยู่ไม่คืบหน้า
“การส่งเสริมเกษตรกรไปสู่ตลาดออนไลน์ จึงต้องอำนวยความสะดวกทั้งการขนส่งสินค้าผ่านการพัฒนาด้านคมนาคม ไม่ให้กระจุกตัวเฉพาะส่วนกลาง เพื่อให้เส้นทางเข้าถึงชุมชน ทั้งสร้างถนน รถไฟทางคู่ ติดตั้งอินเทอร์เน็ตประชารัฐ ส่งเสริมการศึกษาในชุมชน ความเจิรญในชนบทจะสูงขึ้น จึงมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ส่งเสริมโรงงานรับซื้อผลิตภัณฑ์จากท้องถิ่น รวมถึงการส่งเสริมท่องเที่ยวเมืองรอง สิ่งเหล่านี้จะทำให้เศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็งมากขึ้น ภารกิจดูแลเกษตรกรของหลายหน่วยงาน จึงต้องอยู่เหนือการเมือง เพราะเป็นกลุ่มที่ต้องดูแลทุกด้าน เนื่องจากไทยมีศักยภาพ แต่เกษตรกรกลับยากจน ยอมรับแจกเงินผ่านบัตรสวัสดิการสามารถนำมาฝึกอบรมพัฒนาอาชีพให้มีรายได้สูงขึ้น เพราะได้ช่วยเหลือควบคู่ไปพร้อมกับการปฏิรูปและเปลี่ยนแปลง” นายสมคิด กล่าว
นายสมคิด กล่าวเพิ่มเติมว่า เทคโนโลยีเริ่มก้าวเข้ามา ตลาดออนไลน์จึงมีความสำคัญมากในปัจจุบัน และปลูกพืชหลากหลายไม่ใช่เชิงเดี่ยว ข้าราชการทุกหน่วยงานที่ดูแลเกษตรกรห้ามเกียร์ว่างในช่วงเตรียมการเลือกตั้ง เพราะปัญหาเกษตรกรต้องดูแลทุกด้านทุกเวลา ทุกคนต้องมีไฟอยู่ในใจในการช่วยเหลือเกษตกร ทั้งปรับปรุงหนี้ ปรับปรุงการผลิต ดูแลการตลาดแบบครบวงจร แม้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ มันอยู่ที่ใจในการช่วยเหลือ
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เดี๋ยวนี้เดินทางไปไหน พบแต่เกษตรกรปลูกทุเรียน จึงเริ่มมีความเป็นห่วงและอยากให้ปลูกพืชผสมผสาน เพื่อลดความเสี่ยง ต้องปลูกและดูแลอย่างมีคุณภาพ โดยใช้การตลาดเป็นตัวนำ ทางกระทรวงเกษตรฯ จึงต้องการแนะนำเกษตรกรหาความรู้ ทั้งประกันความเสี่ยงจากการทำประกัน โดยรัฐบาลส่งเสริม
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ไทยมีศักยภาพปลูกพืชได้แทบทุกพื้นที่ ตลาดออนไลน์เป็นโอกาสใหม่ให้กับชาวบ้านขายให้กับตลาดโดยตรงไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง หากเป็นสวนที่มีคุณภาพหรือสมาร์ทฟาร์มเมอร์ เพราะผลิตด้วยคุณภาพ กระทรวงพาณิชย์จึงต้องการให้ชุมชนปรับตัวไปสู่ตลาดยุคใหม่ แปรรูปสินค้าเกษตรรองรับความต้องการของตลาด
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า ธ.ก.ส.มุ่งพัฒนาภาคการเกษตร 3 ด้าน คือ ปรับ การเกษตรแบบดั้งเดิมมาใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรเพื่อลดต้นทุน เช่น การผสมปุ๋ยใช้เอง การเกษตรแบบแปลงใหญ่ และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยใช้เทคโนโลยี Agri-Tech เช่น การปลูกมันสำปะหลังระบบน้ำหยด การใช้เครื่องจักรในการทำไร่อ้อย ใช้โดรนเพื่อการเกษตร เป็นต้น ซึ่งสามารถช่วยแก้ปัญหาการขาดแรงงานภาคการเกษตร เปลี่ยนการผลิตให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ โดยปลูกพืชตามแผนที่เกษตรในพื้นที่ที่เหมาะสม เช่น การปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา และผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาด โดยใช้หลัก “ตลาดนำการผลิต” เช่น การแปรรูป การทำเกษตรปลอดภัยและอินทรีย์ ชึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและช่วยลดปัญหาสินค้าล้นตลาด พร้อมเชื่อมโยงการตลาดหลากหลายรูปแบบ เพื่อให้ผู้ผลิต
สามารถเข้าถึงผู้บริโภคหลายช่องทาง เช่น จัดให้มี Branch Outlet การจัดตลาดของดีวิถีชุมชน ตลาดซื้อขายระบบ Online ผ่าน E-Commerce Platform ตลอดจนสร้างระบบเชื่อมโยงการให้บริการซื้อ-ขายสินค้าการเกษตร ปัจจัยการผลิต การจองที่พักแหล่งท่องเที่ยวชุมชน เป็นต้น พัฒนา สหกรณ์การเกษตรและผู้ประกอบการ SMAEs เป็นหัวขบวนนำการเปลี่ยนแปลง โดยสนับสนุนให้มีการผลิตการบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่มูลค่าสินค้าเกษตร เช่น ธุรกิจรวบรวมและแปรรูปข้าวของสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. (สกต.) สุรินทร์ ผู้ประกอบการ SMAEs คิชฌกูฏออร์แกนิคฟาร์มที่ส่งเสริมรวบรวมและรับซื้อผักจากเกษตรกรรายย่อย ทำให้มีตลาดที่แน่นอนและมีรายได้มั่นคง
มาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยใช้กลไกสหกรณ์การเกษตรและผู้ประกอบการSMAEs กว่า 9,000 ราย เป็นหัวขบวนช่วยเพิ่มรายได้ให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐกว่า 300,000 รายในปีที่ผ่านมา ดังนั้น ในปีบัญชี 2562 การนำโมเดลความสำเร็จของเกษตรกรลูกค้า สหกรณ์การเกษตร และผู้ประกอบการ SMAEs ที่จะเป็นหัวขบวนนำการเปลี่ยนแปลงมาเป็นผู้จุดประกายให้กับผู้ร่วมงานครั้งนี้ รวมทั้งขยายผลการให้ความช่วยเหลือไปยังเกษตรกรรายย่อยให้สามารถยกระดับรายได้ของตนผ่านกลไกสหกรณ์และผู้ประกอบการ SMAEs อย่างยั่งยืน และที่สำคัญ คือ การบริหารจัดการด้านการตลาด สำหรับเป็นช่องทางในการจำหน่ายสินค้า ทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดออนไลน์ เช่น A-Farm Mart ซึ่งเป็น E-Commerce PlatForm ที่ ธ.ก.ส.ร่วมกับบริษัทไทยธุรกิจเกษตรพัฒนาขึ้น โดยภายในงานมีการจัดกิจกรรมให้ความรู้และเตรียมความพร้อมให้สหกรณ์การเกษตรและผู้ประกอบการSMAEs ลงทะเบียนสินค้า เพื่อจำหน่ายแบบ Online บน PlatForm ตลาดออนไลน์ .-สำนักข่าวไทย