สำนักข่าวไทย 22 ม.ค. – กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐานเข้าขั้นวิกฤติมากที่สุด ล่าสุด พบค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานส่งผลกระทบต่อสุขภาพถึง 23 เขต ขณะที่นักวิชาการแนะการแก้ปัญหาที่ต้นตอ โดยเฉพาะจำกัดรถยนต์และการเผาไหม้ต่างๆ อย่างที่หลายประเทศทำ เพื่อช่วยลดค่าฝุ่นในระยะยาวได้
นานเกือบเดือนแล้วที่คนกรุงต้องเผชิญกับวิกฤติฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และยังคงพุ่งสูงเกินค่ามาตรฐาน 23 เขต เฉลี่ย 80 ไมโครมกรัม มากเป็นอันดับ 10 ของโลก กรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า หากค่าเฉลี่ยไม่เกิน 90 ไมโครกรัม ถือว่าไม่ร้ายแรงต่อสุขภาพ และจากรายงานไม่พบผู้ป่วยจากภาวะนี้ จึงไม่จำเป็นต้องประกาศให้เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่อันตรายต่อสุขภาพของประชาชน
ไม่ใช่แค่ไทยเท่านั้นที่เจอฝุ่นพิษ หลายประเทศก็มีชะตากรรมไม่ต่างกัน แถมหนักกว่าหลายเท่า แต่กลับแก้ปัญหาได้ อย่างเกาหลีใต้ มีมาตรการฉุกเฉินให้โรงงานกว่า 100 แห่ง ลดชั่วโมงการผลิต จำกัดการผลิตของโรงไฟฟ้าถ่ายหิน และสั่งปิดโรงงานแล้ว 8 แห่งชั่วคราว เพื่อลดมลพิษทางอากาศ ทั้งยังเตรียมปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินเก่าแบบถาวรในปีหน้าด้วย
จีนก็ไม่น้อยหน้า ลดการผลิตเหล็กและสั่งปิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน 103 แห่ง โดยหันมาใช้พลังงานจากลมและแสงอาทิตย์แทน ทั้งยังควบคุมการปล่อยมลพิษอื่นๆ จำกัดจำนวนรถยนต์ ซื้อรถเก่าไปทำลาย
ส่วนกรุงนิวเดลี อินเดีย แม้สถานการณ์ฝุ่นยังไม่ดีขึ้น แต่ก็มีมาตรการชัดเจน อย่างการห้ามรถเครื่องยนต์มากกว่า 2000 ซีซี และเครื่องดีเซลวิ่งบนถนน ส่วนรถทั่วไปให้หยุดวิ่งวันคี่หรือวันคู่ และเน้นส่งเสริมให้ใช้รถสาธารณะแทน
เช่นเดียวกับฝรั่งเศส ที่ห้ามรถส่วนตัววิ่งในเมืองช่วงสุดสัปดาห์ รวมถึงถนนฌ็องเซลิเซ่ 1 วันต่อเดือน และตั้งเป้าภายใน 19 ปีนี้ จะต้องไม่มีรถเครื่องดีเซลหรือเบนซินขายในประเทศอีก
นานกว่า 20 ปีแล้ว ที่ไทยต้องประสบปัญหาฝุ่นพิษเกินมาตรฐานทุกช่วงฤดูหนาว และสถานการณ์วิกฤติมากขึ้น แต่ไทยกลับทำเพียงส่งเสริมให้ใส่หน้ากาก N95 หรือฉีดน้ำล้างถนน พ้นน้ำไล่ฝุ่นละออง จำกัดรถควันดำวิ่งชั่วคราว หรือทำฝนเทียม ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ถึงเวลาเเล้วที่ไทยต้องจริงจังกับการแก้ระยะยาว โดยเน้นที่ต้นเหตุของปัญหาอย่างที่หลายประเทศทำ. – สำนักข่าวไทย