กรุงเทพฯ 3 ม.ค. – กรมชลประทานเตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำจากพายุปาบึก คาดขึ้นฝั่งที่จังหวัดนครศรีธรรมราชค่ำพรุ่งนี้
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงประกาศฉบับล่าสุดของกรมอุตุนิยมวิทยาที่ระบุว่า ทิศทางเคลื่อนตัวของพายุจะปรับลงกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมเล็กน้อย จากที่ประเมินว่าจะขึ้นฝั่งอ่าวไทยบริเวณรอยต่อจังหวัดชุมพรและสุราษฎร์ธานี ขณะนี้คาดการณ์ว่าจะขึ้นฝั่งที่จังหวัดนครศรีธรรมราชค่ำวันพรุ่งนี้ (4 ม.ค.) ซึ่งกรมชลประทานพร้อมรับสถานการณ์อย่างเต็มที่ เนื่องจากได้วางแผนไว้ล่วงหน้าแล้ว แม้ว่าทิศทางการเคลื่อนตัวของพายุจะขยับไปขึ้นฝั่งที่จังหวัดใดก็ตาม
สำหรับจังหวัดนครศรีธรรมราชมีพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยและดินโคลนถล่ม 95 แห่ง โดยพื้นที่เฝ้าระวังในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน 6 จุดในอำเภอเชียรใหญ่ ชะอวด ลุ่มน้ำปากพนังตอนล่าง ร่อนพิบูลย์ หัวไทร เฉลิมพระเกียรติ และอำเภอเมือง
ส่วนพื้นที่เตือนภัยน้ำหลาก-ดินถล่ม ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำรับผิดชอบมี 51 แห่ง ใน 188 หมู่บ้านได้แก่ อำเภอลานสกา 4 แห่ง ฉวาง 5 แห่ง ท่าศาลา 2 แห่ง พิปูน 7 แห่ง พรหมคีรี 2 แห่ง สิชล 2 แห่ง ร่อนพิบูลย์ 3 แห่ง บางขัน 4 แห่ง นบพิตำ 3 แห่ง จุฬาภรณ์ 1 แห่ง ทุ่งสง 5 แห่ง ขนอม 2 แห่ง ช้างกลาง 2 แห่ง และอำเภอเมือง 1 แห่ง และพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก-ดินถล่ม ซึ่งรับผิดชอบโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) 29 แห่ง โดยพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากได้แก่ อำเภอชะอวด 10 แห่ง บางขัน 2 แห่ง หัวไทร 4 แห่ง เชียรใหญ่ 1 แห่ง จุฬาภรณ์ 2 แห่ง ช้างกลาง 1 แห่ง ทุ่งสง 3 แห่ง และร่อนพิบูลย์ 2 แห่ง อีกทั้งมีพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่ม 6 แห่งในอำเภอร่อนพิบูลย์ ทุ่งสง ช้างกลาง ลานสกา นบพิตำ และสิชล
นายทองเปลว กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นจุดพักหลักเครื่องจักรกลของสำนักงานโครงการชลประทานที่ 15 มีทั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ เครื่องผลักดันน้ำ รถขุด รถแทรกเตอร์ รถบรรทุก และเครื่องจักร-เครื่องมืออื่น ๆ เตรียมไว้จำนวนมาก ขณะนี้ได้นำเครื่องสูบน้ำไปติดตั้งตามพื้นที่ลุ่มต่ำ นำเครื่องผลักดันน้ำไปติดตั้งในลำน้ำ เพื่อเร่งพร่องน้ำในลำน้ำต่าง ๆ ส่วนสิ่งกีดขวางทางน้ำได้ดำเนินการไว้ล่วงหน้าแล้วทั้งขุดลอก ขยายทางน้ำ ทำคลองลัดเพื่อเร่งระบายน้ำออกทะเล ซึ่งจะทำให้ลำน้ำต่าง ๆ มีพื้นที่รองรับน้ำจากฝนที่จะตกหนัก ส่วนในอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กและขนาดกลางได้พร่องน้ำไว้แล้ว
สำหรับพื้นที่เขตเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นเขตชุมชนและเขตเศรษฐกิจสำคัญนั้น กรมชลประทานได้เร่งดำเนินโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช-อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร ทรงพระราชทานแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ตั้งอยู่ระหว่างเทือกเขาหลวงและอ่าวไทย มีลักษณะพื้นที่ทอดยาวขวางทิศทางการไหลของน้ำ เมื่อเกิดฝนตกหนักบริเวณเทือกเขานครศรีธรรมราช น้ำจะไหลผ่านเมืองลงทะเล แต่ระบบการระบายน้ำผ่านคลองท่าดีลงสู่คลองท่าชักและคลองท่าเรือออกสู่ทะเล มีขีดความสามารถในการระบายได้เพียง 268 ลบ.ม./วินาที แต่มีปริมาณน้ำที่ต้องระบายถึง 750 ลบ.ม./วินาที อักทั้งมีสิ่งกีดขวางทางน้ำ ทำให้น้ำเอ่อท่วมพื้นที่ เกิดอุทกภัยซ้ำซาก ส่งผลกระทบอย่างมากต่อชุมชนและเศรษฐกิจของเมืองนครศรีธรรมราช
กรมชลประทานได้ทำการศึกษาความเหมาะสมในการแก้ไขและบรรเทาปัญหาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราชแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2545 โดยจะครอบคลุมทั้งในและนอกเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราชอย่างเป็นระบบ มีแผนการปรับปรุงระบบระบายน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ด้วยการขุดคลองผันน้ำใหม่ 3 สาย ความยาวประมาณ 18 กิโลเมตร พร้อมกับขุดขยายคลองเดิมคือ คลองวังวัว ความยาวประมาณ 5.90 กิโลเมตร และคลองท่าเรือ- หัวตรุด ความยาวประมาณ 11.90 กิโลเมตร นอกจากนี้ ยังมีการก่อสร้างประตูระบายน้ำอีก 7 แห่ง ซึ่งใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 3 ปี (2561-2563)
ปัจจุบันกรมชลประทานได้ดำเนินการเข้าไปปักหลักเขตชลประทานในส่วนของ คลองระบายน้ำสาย 3 คลองระบายน้ำหัวตรุด-ท่าเรือ คลองระบายน้ำคลองวังวัว คลองระบายน้ำสาย 2 และคลองระบายน้ำสาย 1(บางส่วน) เสร็จเรียบร้อยแล้ว และเริ่มงานก่อสร้างในส่วนของคลองระบายน้ำท่าเรือ-หัวตรุด งานเพิ่มประสิทธิภาพคลองท่าเรือ- หัวตรุด และงานก่อสร้างคลองระบายสาย 3 ช่วง กม.1+000-3+990 ซึ่งหากโครงการฯ แล้วเสร็จจะสามารถบรรเทาอุทกภัยในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราชและลดพื้นที่น้ำท่วมได้ร้อยละ 90 ครอบคลุมพื้นที่ 12 ตำบล ในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราชและพื้นที่ใกล้เคียง มีครัวเรือนได้รับประโยชน์ 32,253 ครัวเรือน ทั้งยังสามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งได้ประมาณ 5.5 ล้าน ลบ.ม. และมีพื้นที่การเกษตรได้รับผลประโยชน์กว่า 17,400 ไร่.-สำนักข่าวไทย