กรุงเทพฯ 23 ธ.ค.- เงินบาทแข็งค่าสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาททยอยแข็งค่าขณะที่ตลาดหุ้นSET ปิดต่ำกว่า 1,600 จุด
บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทสัปดาห์นี้(17-21 ธ.ค.) ว่า เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น สอดคล้องกับแรงขายเงินดอลลาร์ฯ ทั้งเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก และสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาค ภายหลังจากสัญญาณของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่ระบุถึงการชะลอจังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ในปีหน้า นอกจากนี้ เงินบาทอาจจะมีแรงหนุนบางส่วน หลังจากที่กนง. มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนก.ย. 2554 ด้วยเช่นกัน เงินดอลลาร์ฯ ยังคงมีทิศทางอ่อนค่าลงจนถึงช่วงปลายสัปดาห์ ท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวเพื่อหลีกเลี่ยงการปิดหน่วยงานราชการ (ชัตดาวน์) ของสหรัฐฯ ซึ่งเข้าใกล้เส้นตายวันที่ 21 ธ.ค. ในวันศุกร์ (21 ธ.ค.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 32.65 เทียบกับระดับ 32.78 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (14 ธ.ค.)
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (24-28 ธ.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 32.50-32.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยในประเทศ ได้แก่ รายงานเศรษฐกิจการเงินเดือนพ.ย. ของธปท. ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญในระหว่างสัปดาห์ ประกอบด้วย ดัชนีราคาบ้านเดือนต.ค. ยอดขายบ้านใหม่และยอดทำสัญญาณขายบ้านที่รอปิดการขายเดือนพ.ย. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนธ.ค. ส่วนปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องติดตาม ได้แก่ การปรับโพสิชันของนักลงทุนก่อนใกล้สิ้นปี ประเด็นความคืบหน้าเกี่ยวกับข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน
ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้(17-21 ธ.ค.) ดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดสัปดาห์นี้ที่ระดับต่ำกว่า 1,600 จุด โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับที่ 1,595.33 จุด ลดลง 0.88% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่ มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลง 5.21% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 41,884.50 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ลดลง 4.45% จากสัปดาห์ก่อน มาปิดที่ 367.14 จุด ดัชนีตลาดหุ้นไทยเคลื่อนไหวในแดนลบเกือบตลอดสัปดาห์ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจโลก หลังธนาคารกลางหลายแห่งปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งในปีนี้และปีหน้าลง แม้ดัชนีฯ จะดีดตัวกลับขึ้นมาได้ในช่วงกลางสัปดาห์ โดยได้รับแรงหนุนจากหุ้นกล่มธนาคาร หลังกนง.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมรอบล่าสุดและเฟดส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า แต่อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันโลกที่ยังคงปรับลดลงต่อเนื่องและรายงานตัวเลขส่งออกไทยที่หดตัวในเดือนพ.ย. ก็กลายเป็นปัจจัยลบที่กดดันดัชนีฯ ในช่วงที่เหลือของสัปดาห์
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (24-28 ธ.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,580 และ 1,550 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,615 และ 1,630 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ การทำ Window dressing ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปีส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ และข้อมูลการค้าระหว่างประเทศเดือนพ.ย. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ รายงานการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ย. ของญี่ปุ่น-สำนักข่าวไทย