กรุงเทพฯ 22 พ.ย. – ก.เกษตรฯ ทำความเข้าใจกลุ่มเกษตรกรลูกหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ยอมสลาย กลับไปรอฟังคำสั่งศาลปกครอง
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.)เฉพาะกิจได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรฯ ไปชี้แจง รวมทั้งประสาน กอ.รมน.ส่งแม่ทัพน้อยที่ 1 และเจ้าหน้าที่ตำรวจมาร่วมเจรจาทำความเข้าใจกับกลุ่มเกษตรกรหน้ากระทรวงฯ เป็นระยะ ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงจนกระทั่งได้ข้อยุติว่า กรณีการเปิดขึ้นรับการขึ้นทะเบียนใหม่นั้น ได้สั่งให้ กฟก.เปิดรับขึ้นทะเบียนใหม่ เพราะตาม พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. 2542 กำหนดไว้และตกลงกับกลุ่มเกษตรกรที่จะปรับปรุงแก้ไขแบบคำร้องขอขึ้นทะเบียน โดยลดขั้นตอนที่ยุ่งยากลงตามข้อเสนอของกลุ่มเกษตรกรแล้ว
นายกฤษฎา กล่าวว่า ได้ทำหน้าที่เป็นคนกลางเจรจากับเจ้าหนี้ที่เป็นสหกรณ์การเกษตรให้ชะลอการบังคับคดีระหว่างการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกับเจ้าหนี้สถาบันการเงินอื่น ๆ สำหรับกรณีที่ขอให้มีการแก้ไขปัญหาหนี้เกษตรกรที่เป็นหนี้ที่ใช้บุคคลค้ำประกันแทนการใช้หลักทรัพย์นั้น ได้ทำความเข้าใจกับกลุ่มเกษตรกรว่า กฟก.ไม่สามารถดำเนินการตามข้อเสนอได้ เพราะสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความแล้วว่าไม่สามารถดำเนินการได้ แต่มีเกษตรกรอีกกลุ่มหนึ่งยื่นฟ้องศาลปกครอง จึงขอให้รอการตัดสินของศาลปกครองก่อนว่าจะเข้าไปแก้ไขหนี้สินเกษตรกรกรณีบุคคลค้ำได้หรือไม่ ซึ่งเกษตรกรเข้าใจและยอมรับคำชี้แจงของและยินยอมสลายการชุมนุม จึงได้ประสานกับรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมขอรับการสนับสนุนรถยนต์บัส 2 คัน เพื่อเกษตรกรเดินทางกลับภูมิลำเนาที่จังหวัดชัยนาทและอุทัยธานี
นายกฤษฎา กล่าวว่า ขณะนี้ลูกหนี้กว่า 36,000 ราย ได้รับการช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้ตามที่ ครม.มีมติเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ซึ่งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พักเงินต้นร้อยละ 50 และหยุดดอกเบี้ยไว้ โดยให้ผ่อนชำระเงินต้นครึ่งหนึ่งก่อน ภายใน 15 ปี ดอกเบี้ย MRR-3 ซึ่งในส่วนนี้ขอให้ลูกหนี้ไปทำสัญญากับ ธ.ก.ส.ใหม่ อีกทั้งยังมีระเบียบของ ธ.ก.ส.ที่สามารถยกหนี้แก่ลูกหนี้ที่สูงอายุ พิการ หรือเจ็บป่วยจนประกอบอาชีพไม่ได้ รวมถึงกรณีเสียชีวิตให้ญาติไปแจ้ง ซึ่งมีกว่า 500 รายที่เข้าเงื่อนไขยกเลิกหนี้ได้ ส่วนเกษตรกรยังประกอบอาชีพได้ แต่มีประวัติชำระหนี้ดีตลอดมียอดหนี้เหลือไม่ถึง 250,000 บาท เคยผ่อนชำระมา อีกทั้งผ่อนชำระจนเกินเงินต้นแล้วอาจได้ลดยอดหนี้ที่เหลืออีกร้อยละ 50 เหลือเพียงร้อยละ 25-30 ได้ตรวจสอบแล้วพบว่า มีผู้อยู่ในเกณฑ์ 20,000 ราย ซึ่งกำลังขอให้ ธ.ก.ส.เร่งออกประกาศให้เกษตรกรรับทราบโดยเร็วที่สุด
สำหรับกลุ่มเกษตรกรที่ไม่เห็นด้วยเป็นหนี้นอกหลักเกณฑ์การช่วยเหลือของ กฟก. มีกว่า 3,000 ราย โดยมียอดหนี้เกิน 2.5 ล้านบาท ไม่ใช่หนี้สินจากการทำเกษตรกรรม แต่เกษตรกรระบุว่าเป็นหนี้ที่ต่อเนื่องจากภาคการเกษตร เช่น กู้ซื้อรถกระบะ เพื่อนำผลผลิตจากสวนไปขาย นอกจากนี้ ยังมีกรณีกู้จากธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เพื่อสร้างบ้าน จึงต้องหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง เพื่อเร่งช่วยเหลือ โดยต้องเจรจากับเจ้าหนี้ให้แก้ไขเป็นราย ๆ ไป.-สำนักข่าวไทย