สมาคมนักข่าวฯ18 พ.ย.- เปิดเวทีถก 3 กฎหมายสุขภาพที่ส่งผลกับการปฏิรูประบบสุขภาพของไทย พ.ร.บ.ซุปเปอร์บอร์ด, พ.ร.บ.สปสช. พ.ร.บ.สสส. นักวิชาการชี้เข้าข่ายทำหลักประกันสุขภาพถอยหลังเข้าคลอง เอื้อผลประโยชน์บริษัทใหญ่
นักวิชาการด้านสุขภาพและภาคประชาชนระดมความคิดเห็นและข้อเสนอต่อนโยบายสาธารณสุขไทย ในงานเสวนา “3 กฎหมาย สุขภาพ ก้าวหน้าหรือล้าหลัง” ยก พ.ร.บ. ซุปเปอร์บอร์ด , การแก้ไข พ.ร.บ.สปสช. และ การแก้ไข พ.ร.บ.สสส. ที่ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนในการดำเนินงานและกำหนดกระบวนการทำงานด้านจัดการระบบสุขภาพของคนไทยให้เป็นรูปธรรม
น.พ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ อดีต รมช.สาธารณสุข และ ประธานมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ เปิดเผยว่า ประเด็นสำคัญในการเสวนาครั้งนี้ คือต้องให้คนไทยทุกคนมีส่วนร่วมรับรู้ทุกขั้นตอนในการดำเนินการ ตามสิทธิในระบอบประชาธิปไตย ที่ผ่านมาตนเคยได้เสนอในที่ประชุมสาธารณสุขว่าการแก้ พรบ.ซุปเปอร์บอร์ด ไม่สามารถจัดการปัญหาระบบสุขภาพได้ สิ่งที่ควรเร่งดำเนินการเร่งด่วนคือการสร้างความเข้าใจในกลไกด้านสาธารณสุขและสุขภาพสู่ภาคประชาชนให้มากที่สุด
ด้านนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า ข้อกังวลของการออก พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ หรือ ซุปเปอร์บอร์ด อาจเข้าข่ายการทำลายหลักประกันสุขภาพให้ถอยหลังเข้าคลอง โดยเฉพาะการรวบอำนาจไปไว้ใต้ระบบราชการ ขณะที่มีการเปิดทางให้ภาคเอกชนหรือกลุ่มบริษัทใหญ่เข้ามามีบทบาทแทนภาคประชาชน เห็นได้ชัดจากการพยายามแก้ พ.ร.บ.สสส.ที่จำกัดวงเงิน หากจะอนุมัติระเบียบหลักเกณฑ์ต่างๆต้องไปผ่านความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังอีกชั้น ยิ่งทำลายหลักการปฏิรูปสุขภาพไทยมากขึ้น การต่อสู้ที่ผ่านมา สปสช. สสส. ที่ได้สร้างอำนาจต่อรองไว้ให้กับภาคประชาชน ก็จะไร้ความหมาย
ขณะที่นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผอ.มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ระบุว่า การผลักดันซุปเปอร์บอร์ดสุขภาพที่มองเรื่องหลักประกันสุขภาพเป็นภาระประเทศ ส่งผลรพ.ขาดทุน หากออกนโยบายลิดรอนสิทธิ์ การเข้าถึงบริการสุขภาพ และระบบหลักประกันสุขภาพ ก็จะกลายเป็นระบบสงเคราะห์ทันที ทำให้ประชาชนต้องจ่ายเมื่อไปทำการรักษา ดังนั้นซุปเปอร์บอร์ดที่มีกลุ่มบริษัทใหญ่เข้ามาเป็นสัดส่วน2ใน5จะเข้าใจถึงหลักการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพ ให้ภาคประชาชนได้รับสิทธิประโยชน์อย่างแท้จริงได้มากน้อยเพียงใด
โดยพรุ่งนี้ 13.00 น. กลุ่มตัวแทนภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมด้านสุขภาพจะนำหนังสือเรียกร้องหยุดการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพที่ไม่เป็นธรรมไปยื่นต่อนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล.-สำนักข่าวไทย