กรมอนามัย13 พย. กรมอนามัย คาด ปี’64 ผู้สูงอายุเพิ่ม 5.6 ล้านคน เตรียมแผนงานส่งเสริมสุขภาพสูงอายุระยะยาว
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธาน เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการชี้แจงแนวทางการดำเนินงานแก่ผู้รับผิดชอบงานผู้สูงอายุ ในระดับ cluster กลุ่มผู้สูงอายุส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และระดับจังหวัดว่า ปัจจุบันผู้สูงอายุไทยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมีจำนวนถึงร้อยละ 17.52 ซึ่งคาดว่าภายใน 3 ปีประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ หรือร้อยละ 20 ของจำนวนประชากร ทั้งประเทศ ซึ่งผู้สูงอายุที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป มีจำนวน 4.6 ล้านคน หรือร้อยละ 42.9 ของประชากรสูงอายุทั้งหมด และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 5.6 ล้านคนในปีพ.ศ. 2564 ซึ่งจากการเพิ่มจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ส่งผลกระทบทางด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคมโดยรวม // เพราะจากการคาดประมาณประชากรของประเทศไทยปี 2553-2583 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่า ในปี 2583 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป สูงถึง 20.5 ล้านคนหรือ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 32 ของจำนวนประชากรไทยทั้งหมด แต่จะมีประชากรวัยแรงงานเพียง 35.18 ล้านคน เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2553 ที่มีประชากรวัยแรงงานจำนวน 42.74 ล้านคน หรือลดลง 7.6 ล้านคน ทำให้โครงสร้างประชากรไทยที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ
จากการลดลงของจำนวนและสัดส่วนของประชากรวัยแรงงานและการเพิ่มของจำนวนประชากรผู้สูงอายุสะท้อนให้เห็นถึงการจัดระบบบริการด้านสุขภาพ ให้กับประชากรที่อยู่ในวัยผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงต้องเผชิญกับปัญหาสภาพชีวิต ความเป็นอยู่ และระบบการดูแลที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงความมั่นคงทางด้านรายได้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่มาจากพื้นฐานครอบครัวที่ที่มีฐานะยากจน ส่วนหนึ่งยังมีปัญหาเรื่องรายได้ ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข จึงได้กำหนดวิสัยทัศน์ “ภายในทศวรรษต่อไป คนไทยทุกคนจะมีสุขภาพแข็งแรงเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างยั่งยืน”
โดยนโยบายด้านการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาวมี 2 แผนงาน ได้แก่ 1.แผนบูรณาการพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต โดยมีกิจกรรมประกอบด้วยแนวทางการดำเนินงาน โครงการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุและป้องกันภาวะสมองเสื่อม และโครงการพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ 2.แผนบูรณาการสร้างความเสมอภาคเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งประกอบด้วย โครงการพัฒนาระบบการดูแลด้านสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาว (Long Term Care) ในชุมชน และโครงการบูรณาการการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีการดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุภายใต้แผนงานทันตสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุประเทศไทย พ.ศ.2558-2565 .-สำนักข่าวไทย