กกต. 2 พ.ย.- กกต.จัดแนะแนวทางการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง โดยไม่ขัดต่อกำหมายให้กับพรรคการเมืองใหม่ แนะเดินหน้ารับสมัครสมาชิก ย้ำ คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 13 ยังมีผล ต้องขออนุญาตก่อนดำเนินกิจกรรมใดๆ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (2 พ.ย.) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดย นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต. เชิญพรรคการเมืองใหม่ประชุมชี้แจงการดำเนินกิจกรรม แบ่งเป็นช่วงเช้า พรรคสยามพัฒนา พรรคพรรคพลังไทยรักไทย พรรคพลังชาติไทย และพรรคประชาชาติ และช่วงบ่าย พรรคไทยธรรม พรรคเพื่อคนไทย พรรคพลังปวงชนไทย พรรคพลังรวมประชาชาติไทย
นายแสวง กล่าวตอนหนึ่งว่า เมื่อได้รับการจดทะเบียนเป็นพรรคการเมืองแล้ว ให้รับสมัครสมาชิกได้ทันที โดยผู้ร่วมจัดตั้งพรรค 500 คน จะถือว่ามีสมาชิกภาพเป็นสมาชิกพรรค เรื่องหาสมาชิก 100 คน ขอแนะนำให้แต่ละพรรคเผื่อจำนวน เพื่อป้องกันกรณีสมาชิกซ้ำซ้อนกับพรรคอื่น ซึ่งจะมีผลให้เสียทั้ง 2 พรรค จะถูกตีความว่าหาสมาชิกชอบหรือไม่
นายแสวง กล่าวว่า กรณีกองทุนเงินสนับสนุนพรรคการเมือง ในปีงบประมาณ 2562 วันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2562 กกต.ได้จัดสรรรูปแบบใหม่ จะได้เท่าไรขึ้นอยู่กับเกณฑ์ตามกฎหมาย โดย กกต.ได้รับงบประมาณ 130 ล้านบาท สามารถจัดสรรให้พรรคการเมืองได้ 117 ล้านบาท คาดว่า จะโอนเงินอุดหนุนให้พรรคการเมืองได้ ในช่วงต้นปี 2562 และเมื่อได้รับเงินไปแล้ว สามารถนำไปใช้ในการหาเสียงได้ แต่ต้องทำเอกสารรายงาน กกต. ส่วนพรรคการเมืองเก่า จะมีสิทธิได้รับเงินอุดหนุนที่มาจากเงินบริจาคจากภาษีด้วย
“ขณะนี้คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 13 ยังมีผลบังคับใช้ ก่อนที่พรรคจะดำเนินกิจการใดๆ ต้องแจ้ง กกต. ก่อนดำเนินกิจกรรม 5 วัน และเมื่อเป็นพรรคการเมืองแล้ว ต้องดำเนินกิจการทางการเมืองตาม ม. 23 ของพรรคการเมือง อย่างน้อยปีละ 1 อย่าง” นายแสวง กล่าว
นายแสวง กล่าวว่า ในส่วนของกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ต้องประกอบด้วย กรรมการบริหาร 7 คน สมาชิกพรรค 4 คน รวม 11 คน เนื่องจากเจตนา คสช. มองว่า หลังปลดล็อค พรรคการเมืองอาจตั้งสาขาไม่ทัน จึงเขียนกฎหมายให้รับฟังจากตัวบุคคล เช่น ผู้แทนสาขา ตัวแทนหรือสมาชิกพรรคการเมืองประจำจังหวัด คำสั่ง คสช.ที่ 13 จึงเป็นไพรมารี่แบบย่อ หรือ มินิ ไพรมารี่ ความหมาย คือ ต้องตั้งตัวแทนหรือสาขาพรรคเพื่อฟังความเห็น ซึ่งกฎหมายเก่า พรรคจะต้องจัดประชุม แต่กฎหมายใหม่ไม่ต้องประชุม แค่รับฟังเท่านั้น
นายแสวง กล่าวอีกว่า การตั้งสาขาพรรค ต้องมีสมาชิกในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบไม่น้อยกว่า 500 คนขึ้นไป และบุคคลนั้นต้องมีภูมิลำเนาตามทะเบียนราษฎร ส่วนตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด จะต้องอยู่ในพื้นที่ และต้องมีจำนวน 101 คนขึ้นไป และว่า กฎหมายมีความสลับซับซ้อน แนะนำให้พรรคมีนิติกรอย่างน้อย 1 คน ทำหน้าที่ประสานกับกกต. เพราะกฎหมายหลาย 10 มาตรา มีโทษตั้งแต่ใบแดงถึงใบดำ เปลี่ยนค่าปรับทางปกครอง เป็นค่าปรับทางอาญา
นายแสวง กล่าวว่า กรณีการรับบริจาค กฎหมายกำหนดห้ามบริจาคเกิน 10 ล้านบาทต่อรายต่อปี ขณะนี้ รับบริจาคได้เฉพาะกรรมการบริหารพรรคเท่านั้น เงินของพรรคการเมือง ก่อนการปลดล็อก จะมาจากทุนประเดิม กองทุนพัฒนาพรรคการเมือง หรือค่าสมาชิกเท่านั้น หากต้องการรับบริจาคจากบุคคลภายนอก สามารถใช้คำสั่ง คสช.ที่ 53 ข้อ 4 ขออนุญาตได้ เช่น ขายสินค้าที่ระลึกระดมทุน ส่วนการระดมทุนในรูปแบบจัดทอล์คโชว์ ขายโต๊ะ ยังทำไม่ได้ เพราะอาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อย ซึ่งจะขัดคำสั่ง คสช. .- สำนักข่าวไทย