วอชิงตัน 16 ต.ค.- ยอดขาดดุลงบประมาณสหรัฐเพิ่มขึ้นเป็น 779,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 25.46 ล้านล้านบาท) ในปีงบประมาณ 2561 สูงที่สุดในรอบ 6 ปี เนื่องจากนโยบายลดภาษีของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ทำให้รัฐบาลต้องกู้ยืมมากขึ้นเพื่อให้เพียงพอต่อการใช้จ่ายของหน่วยงานภาครัฐ
กระทรวงคลังสหรัฐแถลงวันจันทร์ตามเวลาท้องถิ่นว่า ยอดขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้น 113,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.69 ล้านล้านบาท) จากปีงบประมาณ 2560 และคาดว่าจะแตะ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 32.67 ล้านล้านบาท) ในปีงบประมาณ 2562 สหรัฐมียอดขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นเนื่องจากรายได้จากภาษีแทบไม่เพิ่มขึ้น แต่รายจ่ายรัฐบาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 ตามที่สภาอนุมัติเพิ่มงบประมาณกลาโหมและโครงการในประเทศ อย่างไรก็ดี นายสตีเฟน มนูชิน รัฐมนตรีคลังแถลงว่า ปัจจัยที่ทำให้ยอดขาดดุลงบประมาณปีนี้เพิ่มขึ้นเป็นเพราะรายจ่ายรัฐบาลเพิ่มขึ้น ไม่ใช่เพราะลดภาษี และว่าการเดินหน้านโยบายเศรษฐกิจเพื่อกระตุ้นการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ควบคู่ไปกับการเสนอตัดลดค่าจ่ายที่ฟุ่มเฟือยจะนำพาสหรัฐไปสู่ฐานะการเงินที่ยั่งยืน
รัฐบาลสหรัฐมีรายได้จากภาษีลดลงมากตั้งแต่ประธานาธิบดีทรัมป์ลงนามร่างกฎหมายลดภาษี 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 48.99 ล้านล้านบาท) เมื่อเดือนธันวาคมปีก่อน การลดภาษีทำให้เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวอย่างรวดเร็ว รัฐบาลทรัมป์คาดว่าปีนี้จะโตถึงร้อยละ 3.1 แต่นักวิชาการสถาบันบรุกกิงส์เตือนว่า การลดภาษีจะไม่ทำให้เศรษฐกิจโตในระยะยาว ขณะที่ยอดขาดดุลจะยิ่งเพิ่มขึ้นเพราะรัฐต้องจ่ายค่าสวัสดิการสังคม ค่าประกันสุขภาพ และค่าอื่น ๆ เพราะประชากรเข้าสู่วัยชรามากขึ้น ต้นทุนการอุดหนุนยอดขาดดุลส่งผลให้ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐระยะ 10 ปี ทะยานขึ้นมาแตะร้อยละ 3.15 แล้วในขณะนี้ ทั้งที่เมื่อต้นปียังอยู่ที่ร้อยละ 2.46 ดังนั้นรัฐบาลจึงควรหาทางลดยอดขาดดุลงบประมาณในช่วงที่เศรษฐกิจดีขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงที่จะต้องตัดลดรายจ่ายในอนาคต
สหรัฐเคยขาดดุลงบประมาณเกิน 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (เกิน 32.67 ล้านล้านบาท) ในปี 2552-2554 เป็นช่วงที่รัฐบาลบารัค โอบามาใช้นโยบายลดภาษีควบคู่กับการเพิ่มรายจ่ายและพยุงภาคการธนาคาร เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจหลังเกิดวิกฤตการเงินโลกที่ทำให้เศรษฐกิจถดถอยหนักที่สุดนับจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ทั่วโลกปี 2472-2482.- สำนักข่าวไทย