กรุงเทพฯ 2 ก.ย. – อธิบดีกรมชลประทานทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด 22 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยา ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่งงดทำนาปีต่อเนื่อง เพื่อเตรียมใช้เป็นพื้นที่รับน้ำหลาก
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ได้ทำหนังสือขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัด 22 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยาให้ทำความเข้าใจกับเกษตกรในพื้นที่ลุ่มต่ำตามโครงการปรับเปลี่ยนปฏิทินการปลูกข้าวให้งดทำนาปีต่อเนื่อง พื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่ง ซึ่งกรมชลประทานส่งน้ำให้ปลูกข้าวนาปีครั้งที่ 1 เร็วขึ้นตั้งแต่ 1 พฤษภาคม ได้แก่ ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก ทุ่งเชียงราก ทุ่งท่าวุ้ง ทุ่งบางกุ่ม ทุ่งบางบาล-บ้านแพน ทุ่งป่าโมก ทุ่งผักไห่ ทุ่งเจ้าเจ็ด ทุ่งโพธิ์พระยา และระบายน้ำบางส่วนผ่านโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระยาบันลือและโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ เพื่อจะได้เก็บเกี่ยวได้ทันก่อนน้ำหลาก อีกทั้งกรมชลประทานขอใช้พื้นที่ทั้ง 12 ทุ่ง 1.2 ล้านไร่เป็นพื้นที่รองรับน้ำนองชั่วคราว รับน้ำได้ 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร
จากการสำรวจล่าสุดพื้นที่ปลูกข้าวใน 22 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยา มี 7.060 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 2.920 ล้านไร่ คาดว่าจะเก็บเกี่ยวเสร็จกลางเดือนนี้ ซึ่งกรมชลประทานขอความร่วมมือเกษตรกรพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่งดังกล่าว เมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จให้เกษตรกรงดปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง โดยจะนำปลาไปปล่อยเพื่อให้ทำประมงเป็นอาชีพเสริม
ส่วนพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนบนทำเป็นที่รับน้ำ คือ ทุ่งบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก และบางส่วนของสุโขทัย ได้ขยายพื้นที่รับน้ำเพิ่ม จากเดิมปี 2560 โครงการบางระกำโมเดลมี 265,000 ไร่ รับน้ำได้ 400 ล้านลูกบาศก์เมตร ปีนี้มีพื้นที่ 382,000 ไร่ รับน้ำได้ 550 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งขณะนี้เก็บเกี่ยวข้าวหมดแล้ว พร้อมใช้เป็นพื้นที่รับน้ำนอง
สำหรับแผนบริหารจัดการน้ำช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงฝนตกชุกที่สุดของปีนั้น นายทองเปลว กล่าวว่า จะเร่งระบายน้ำผ่านทางลำน้ำสายหลักออกทะเลเร็วที่สุด หากมีน้ำหลากมากจะพิจารณาตัดยอดน้ำเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำทั้ง 13 ทุ่งในเวลาที่เหมาะสม โดยโครงการนี้ดำเนินการมาเป็นปีที่ 2 ซึ่งปีที่แล้วประสบความสำเร็จตัดยอดน้ำหลากช่วยลดผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง อีกทั้งน้ำที่เก็บไว้เกษตรกรสามารถนำไปใช้เพาะปลูกต่อในช่วงฤดูแล้ง.-สำนักข่าวไทย