กรุงเทพฯ 24 ส.ค. – ม.หอการค้าไทยเผยผลสำรวจชี้เอสเอ็มอีขนาดกลางและจดทะเบียนสามารถรับรู้ข้อมูลเข้าถึงมาตรการสนับสนุนภาครัฐได้ดี สวนทางกับรายย่อยที่อยู่นอกระบบ ด้านเอสเอ็มอีแบงก์พร้อมเจาะลึกลงถึงท้องถิ่น เพื่อหนุนเข้าสู่ระบบ
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึง “การประเมินความสามารถในการเข้าถึงนโยบายภาครัฐของ SMEs ไทย” จากการสำรวจเอสเอ็มอี 1,200 ตัวอย่างทั่วประเทศ พบว่า สัดส่วนกลุ่มเอสเอ็มอีที่รู้ถึงมาตรการและความช่วยเหลือจากรัฐบาลร้อยละ 60.31 ส่วนกลุ่มที่ไม่รู้ร้อยละ 39.69 โดยในจำนวนกลุ่มที่รับรู้ร้อยละ 30.54 ระบุว่า รับรู้ระดับสูงมาก ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มจดทะเบียนร้อยละ 80.3 และเป็นธุรกิจขนาดกลางถึงร้อยละ 90.9 ส่วนช่องทางที่ทำให้รับรู้ส่วนใหญ่ร้อยละ 35.15 มาจากการบอกต่อของคนสนิท และร้อยละ 33.68 มาจากเจ้าหน้าที่รัฐลงไปแนะนำ
ขณะที่สิ่งที่รับรู้มากที่สุด คือ มาตรการสนับสนุนสินเชื่อจากสถาบันการเงินของรัฐร้อยละ 76.7 มาตรการด้านภาษีร้อยละ 71.2 และการเสริมทักษะความรู้ร้อยละ 53.6 ทางด้านกลุ่มที่ระบุว่าไม่รู้ บอกเหตุผลว่า ไม่มีเวลาติดตามข้อมูลข่าวสารร้อยละ 34.35 ไม่ได้อยู่ในกลุ่มหรือเครือข่าย เช่น สมาคม หรือสมาพันธ์ต่าง ๆ ร้อยละ 18.88 และช่องทางสื่อสารกระจุกตัวเฉพาะในสื่อของภาครัฐร้อยละ 17.25 เป็นต้น ด้านทัศนะต่อความสามารถในการเข้าถึงนโยบายและมาตรการของรัฐและธุรกิจ พบว่าร้อยละ 55.61 เข้าถึงได้ระดับปานกลาง ส่วนที่ไม่สามารถเข้าถึงได้เลย มีเพียงร้อยละ 4.17 โดยส่วนใหญ่กลุ่มธุรกิจที่จดทะเบียนและเป็นธุรกิจขนาดกลางจะสามารถเข้าถึงมาตรการและความช่วยเหลือของภาครัฐได้ดี สวนทางกับกลุ่มไม่จดทะเบียนและขนาดเล็กระบุว่า เข้าถึงมาตรการและความช่วยเหลือของภาครัฐได้น้อยหรือไม่เคยเข้าถึงเลย
ทั้งนี้ ผลสำรวจสอดคล้องกับการสำรวจในหัวข้อ “การใช้หรือการเข้าร่วมนโยบายหรือมาตรการที่รัฐออกมาช่วยเหลือ SMEs” สิ่งน่าสนใจ คือ เอสเอ็มอีกลุ่มที่ไม่จดทะเบียน ตอบว่าเคยใช้บริการหรือเข้าร่วมโครงการเพียงร้อยละ 9.3 เท่านั้น ขณะที่เอสเอ็มอีที่จดทะเบียนเข้าไปใช้บริการร้อยละ 49.6 แสดงให้เห็นว่าเอสเอ็มอี ที่จดทะเบียนมีโอกาสเข้าถึงความช่วยเหลือภาครัฐมากกว่าเอสเอ็มอีที่ไม่จดทะเบียน และหากประเมินจากขนาดธุรกิจแล้ว เอสเอ็มอีขนาดกลางร้อยละ 81.8 ตอบว่าเคยเข้าร่วมโครงการ แต่เอสเอ็มอีขนาดเล็กเข้าร่วมโครงการเพียงร้อยละ 17.1 เท่านั้น เมื่อสอบถามสาเหตุที่ไม่เคยใช้หรือไม่เคยเข้าร่วมโครงการที่รัฐบาลออกมาช่วยเหลือ กลุ่มตัวอย่างตอบเหตุผล เช่น มาตรการและนโยบายยังไม่ตรงความต้องการ ช่องทางการรับรู้ข่าวสารไม่เพียงพอ ไม่มีเบี้ยเลี้ยงหรือค่าเดินทาง ไม่มีเอกสารยืนยันตัวตนทำให้ไม่ได้รับสิทธิ์ตามเงื่อนไข เป็นต้น
นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้สะท้อนว่าเอสเอ็มอีที่ยังไม่รับรู้และเข้าไม่ถึงมาตรการช่วยเหลือและการสนับสนุนของภาครัฐ ส่วนใหญ่จะเป็นรายเล็กและไม่จดทะเบียน ทำให้ตกสำรวจ มาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ จึงเข้าไม่ถึง ที่ผ่านมารัฐบาลทำงานเชิงรุกเป็นฝ่ายเดินเข้าไปสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยเอง ขณะที่เอสเอ็มอีแบงก์ยกระดับการทำงาน โดยมีหน่วยบริการเคลื่อนที่ “รถม้าเติมทุน ส่งเสริม SMEs ไทย ฉับไว ไปถึงถิ่น” ให้บริการคนตัวเล็กถึงถิ่น อีกทั้งมีบริการแพลตฟอร์ม “SME D Bank” สามารถยื่นกู้ออนไลน์ได้ทันที ทุกที่ ทุกเวลา พร้อมมีข่าวสารและความรู้บริการเสริมแกร่งให้เอสเอ็มอีด้วย
ทั้งนี้ จากที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยร่วมกับเอสเอ็มอีแบงก์สำรวจสถานการณ์เอสเอ็มอีไทย พบว่า ยังมีผู้ประกอบการรายย่อย หรือ “จุลเอสเอ็มอี” ที่ไม่จดทะเบียนหรือตกสำรวจ อีกกว่า 2.7 ล้านราย ขณะที่กลุ่มเอสเอ็มอีจดทะเบียนอยู่ในระบบธุรกิจเกิดประโยชน์ปรับตัวดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะยอดขายปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 40.7 กำไรดีขึ้นร้อยละ 32.7 ราคาสินค้าปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 24.2 และสภาพคล่องของธุรกิจปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 27.4.-สำนักข่าวไทย