เพชรบุรี 21 ส.ค. – กรมชลประทานปรับแผนเพื่อแก้ไขน้ำล้นตลิ่งเมืองเพชรบุรี เสริมแนวป้องกันน้ำบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำ ร่วมกับจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึง สถานการณ์ลุ่มน้ำเพชรบุรีว่า น้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนแก่งกระจาน ปัจจุบัน (21 ส.ค.) 777 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 106 ของความจุอ่าง ระดับน้ำล้นทางระบายน้ำล้นสูงประมาณ 1.44 เมตร ได้เร่งระบายน้ำออกผ่านวิธีพิเศษ คือ ใช้กาลักน้ำ 22 ชุด รวมกับท่อส่งน้ำใต้อ่างและทางระบายน้ำล้นด้วยอัตรา 282 ลบ.ม./วินาที หรือประมาณวันละ 24.36 ล้าน ลบ.ม. ที่สถานีวัดน้ำ B.3A อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 0.22 เมตร และไหลมายังสถานี B.15 อ.เมือง จ.เพชรบุรี ระดับน้ำยังคงต่ำกว่าตลิ่ง 0.05 ม. ระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีโดยรวมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
นายทองเปลว กล่าวว่า จากการที่มีน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจานอย่างต่อเนื่อง ทำให้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรีปรับแนวทางบริหารจัดการน้ำที่เขื่อนเพชร เพื่อรองรับปริมาณน้ำที่ระบายจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจาน โดยขอระบายน้ำลงแม่น้ำเพชรบุรี ประมาณ 130 – 140 ลบ.ม./วินาที จึงทำให้กลางดึกของคืนวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมาเกิดน้ำกัดเซาะบริเวณคันคลองฝั่งขวาของคลองส่งน้ำสายใหญ่ 3 (RMC 3) บริเวณที่ชาวบ้านฝั่งท่อระบายน้ำไว้ น้ำบ่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่บริเวณฝั่งขวาของคลองส่งน้ำเป็นบริเวณกว้าง จึงสั่งการให้ปรับลดปริมาณน้ำที่เปิดเข้าคลองส่งน้ำสายใหญ 3 เป็นชั่วคราว เพื่อซ่อมแซมคันคลองในจุดที่ชำรุดดังกล่าว ซึ่งได้ซ่อมแซมเสร็จตั้งแต่ 04.30 น. สามารถใช้รับน้ำแล้วผันเข้าคลอง D9 ได้อย่างเต็มศักยภาพเพื่อระบายออกทะเลที่ปึกเตียน อำเภอท่ายางทางหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้มีปริมาณน้ำส่วนหนึ่งไหลผ่านเขื่อนเพชรลงแม่น้ำเพชรบุรีเกินเกณฑ์เฝ้าระวังที่ 150 ลบ.ม./วินาที โดยอยู่ที่ 162 ลบ.ม./วินาที ทั้งนี้ กรมชลประทานจะควบคุมการระบายท้ายเขื่อนให้อยู่ที่ 150-160 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีจนกว่าปริมาณน้ำสูงสุดที่ระบายจากเขื่อนแก่งกระจานจะลดลงอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
นายทองเปลว กล่าวว่า แนวทางบริหารจัดการที่สำคัญเพื่อลดปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเพชรไม่ให้เกินเกณฑ์ควบคุม คือ จะเพิ่มปริมาณน้ำเข้าคลองส่งน้ำทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวารวม 4 สาย จากเดิมผันน้ำเข้า 90 ลบ.ม./วินาที เปิดขยายทางน้ำให้รับได้เพิ่มถึง 120 ลบ.ม./วินาที พร้อมปรับแผนจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้มีปริมาณน้ำส่วนหนึ่งที่ไหลล้นผ่านเขื่อนเพชรลงแม่น้ำเพชรบุรีเกินเกณฑ์เฝ้าระวังที่ 150 ลบ.ม./วินาที เพื่อจะลดผลกระทบจากภาวะน้ำล้นตลิ่งของแม่น้ำเพชรบุรี อีกมาตรการสำคัญที่กรมชลประทานร่วมกับจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำไปก่อนหน้านี้และขณะนี้ทำเพิ่ม คือ การเสริมแนวป้องกันน้ำในบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำ นำกระสอบทรายไปปิดท่อระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำดันออกมาตามท่อ ส่วนบริเวณที่มีน้ำซึมเข้ามาได้เตรียมเครื่องสูบน้ำไว้เพื่อเร่งสูบกลับสู่แม่น้ำเพชรบุรี นอกจากนี้ ยังมีเครื่องผลักดันน้ำ 33 เครื่องเป็นระยะ ๆ ในลำน้ำเพชรบุรีทำงานอยู่ตลอดเวลา เพื่อเร่งผลักดันน้ำในจุดที่น้ำไหลช้า ส่วนที่ปลายน้ำมีเรือผลักดันน้ำรวม 26 ลำ เร่งระบายน้ำแม่น้ำเพชรบุรีออกสู่อ่าวไทยให้เร็วที่สุด