กรุงเทพฯ 15 ส.ค.- นายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมกองบังคับการตำรวจจราจร และมอบนโยบายการปฏิบัติงานศูนย์ควบคุมสั่งการจราจรแบบบูรณาการ เพื่อแก้ปัญหาจราจรในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เน้นเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมทุกรูปแบบ ดูแลไม่ให้รถนำขบวนกระทบประชาชน กำชับให้เห็นผล ภายใน 3 เดือน
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ร่วมตรวจเยี่ยมกองบังคับการตำรวจจราจร และมอบนโยบายการปฏิบัติงานศูนย์ควบคุมสั่งการจราจรแบบบูรณาการ เพื่อแก้ปัญหาจราจรในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดย นายกรัฐมนตรี ระบุว่า รัฐบาลปฏิเสธความรับผิดชอบในการแก้ปัญหาจราจรไม่ได้ ซึ่งจากนี้ทุกสถานีตำรวจ ต้องรับฟังศูนย์ควบคุมสั่งการจราจรแบบบูรณาการ เพื่อแก้ปัญหาจราจรในภาพรวมทั้งหมด รวมทั้ง นำระบบเทคโนโลยีมาปรับใช้ ให้สามารถทราบปริมาณรถในแต่ละเส้นทาง / เชื่อมโยงการเดินทาง ทั้งทางบก ทางราง และทางน้ำ ในการบรรเทาปัญหาการจราจร พร้อมแนะนำการปรับระบบควบคุมความเร็วรถ บนทางด่วนใหม่ / ดูแลไม่ให้มีรถจอดกีดขวาง และ การบีบพื้นที่ก่อสร้างต้องคำนึงถึงความปลอดภัย ขณะเดียวกัน ประชาชนก็ต้องมีจิตสำนึก ไม่ฝ่าฝืนกฎจราจร ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเร่งทำความเข้าใจด้วย พร้อมกำชับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ดูแลไม่ให้รถนำขบวนคณะรัฐมนตรี สร้างปัญหาจราจร จนกระทบกับประชาชน และให้คาดโทษหากตำรวจพื้นที่ใดปล่อยปละละเลย ต้องถูกดำเนินการทางวินัย ทั้งนี้ การแก้ปัญหาจราจรทั้งหมด ต้องให้เห็นผลภายใน 3 เดือน
ทั้งนี้ จากข้อมูล ของศูนย์ควบคุมสั่งการจราจรแบบบูรณาการ พลตำรวจตรีจิรพัฒน์ ภูมิจิตร รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล รายงานว่า สภาพปัญหาจราจร ติดขัด เกิดจากหลายปัจจัย ทั้ง การจราจรหน้าสถานศึกษา ต่างๆ ในกรุงเทพฯ , การจราจรติดขัดมาจากเส้นทางที่เชื่อมต่อกับปริมณฑล เช่น ถนนบรมราชชนนี แจ้งวัฒนะ รวมทั้ง ถนนตัดผ่านรถไฟ ซึ่งมีสภาพไม่เรียบเสมอกันหลายจุด รวมถึงการก่อสร้างรถไฟฟ้า 5 สาย ประกอบด้วย สายสีน้ำเงิน ช่วงเพชรเกษม – จรัญสนิทวงศ์ / สายสีเขียว (เหนือ) ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต / สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) / สายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี / และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง ทำให้ส่งผลกระทบต่อการจราจรในภาพรวมของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเส้นทางที่มีปัญหาการจราจรติดขัดอย่างหนัก คือ สายสีเหลือง โดยเฉพาะ ช่วงเวลาเร่งด่วนเช้า-เย็น ซึ่งเบื้องต้น ตำรวจได้ปรับแนวแบริเออร์บริเวณป้ายรถประจำทาง 21 จุด ตลอดเส้นทางถนนลาดพร้าวขาออก ไม่ให้กระทบช่องทางจราจร
นอกจากนี้ จะมีการตัดเกาะกลางถนน ปากซอยรัชดา 32 ด้านหน้าศาลอาญารัชดา เพื่อใช้เป็นจุดกลับรถ รองรับรถที่เข้าใช้เส้นทางลัดซอยรัชดา 30, 32 และ 36 และห้ามรถบรรทุก 6 ล้อขึ้นไป ใช้เส้นทางในช่วงเวลาเร่งด่วน แต่คาดว่า หากการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และอุโมงค์ข้ามแยกรัชโยธินแล้วเสร็จ จะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรได้บางส่วน
ขณะที่ องค์การขนส่งมวลชน หรือ ขสมก. ได้มีการปรับ / เพิ่มเส้นทางรถโดยสารสาธารณะ โดยใช้ทางด่วน หรือทางยกระดับ เลี่ยงจุดวิกฤตจราจรตามแนวก่อสร้างรถไฟฟ้า รวมทั้งเพิ่มรถชัตเติลบัส รับส่งประชาชนเลี่ยงแนวเส้นทางวิกฤตเช่นกัน รวมทั้งเพิ่มเรือด่วนพิเศษอีกด้วย.-สำนักข่าวไทย