กสศ.8ส.ค.-เปิดสถานการณ์นักเรียนยากจนปี 61 พบยากจนเเละยากจนพิเศษเกือบ1.7 ล้านคนหรือร้อยละ35 จากเด็กทั้งหมด4.8 ล้านคน พบภาคเหนือมากสุด อันดับ1จ.เเม่ฮ่องสอน นักวิชาการเรียกร้องรัฐเร่งดำเนินนโยบาย เพราะความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายังมีมาก
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดเวทีระดมความคิดเห็นจากโรงเรียนที่มีนักเรียนยากจนพิเศษทั้งโรงเรียน พร้อมเปิดรายงานสถานการณ์นักเรียนยากจนพิเศษปี 2561 เพื่อร่วมหาข้อเสนอเชิงนโยบายในการแก้ไขปัญหา ให้การศึกษาของไทยมีความเสมอภาค
นายไกรยส ภัทราวาท ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายวิจัย สำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.)กล่าวว่า ได้สำรวจสถานะนักเรียนยากจน เเละยากจนพิเศษปี2561โดยใช้เกณฑ์การคัดกรองนักเรียนยากจนด้วยวิธีการวัดรายได้ทางอ้อมโดยต้องมีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยน้อยกว่า3,000 บาทต่อคน/เดือน ที่อยู่อาศัยทรุดโทรม ไม่มียานพาหนะไม่มีที่ดินทำกิน จากนักเรียนสังกัด สพฐ.(ป.1-ม.3) กว่า 4.8 ล้านคน มีนักเรียนยากจน 1,696,433 คนหรือคิดเป็นร้อยละ 35 ของนักเรียนทั้งหมด
แบ่งเป็นนักเรียนยากจน1,075,476 คน คิดเป็นร้อยละ 22.3 เเละยากจนพิเศษ 620,937คนหรือร้อยละ12.9 ของนักเรียนทั้งหมด โดยอยู่ในระดับ ชั้นประถมศึกษากว่า 4 เเสนคนเเละระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 1.8เเสนคน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องได้รับการช่วยเหลือเร่งด่วน เพราะมีรายได้เฉลี่ยต่อคน 1,281 บาทต่อเดือนหรือเฉลี่ยวันละ42.7 บาท ไม่เพียงพอเเม้เเต่ค่าอาหารเช้าที่มีคุณค่าทางโภชนาการ
โดยภูมิภาคที่มีนักเรียนยากจนพิเศษหนาเเน่นมากที่สุด คือภาคเหนือ โดยมีเด็กยากจนพิเศษมากที่สุดคือจ.เเม่ฮ่องสอน รองลงมาคือ ตาก นราธิวาส ยะลา น่าน สตูล เชียงใหม่ ปัตตานี นครราชสีมาเเละมหาสารคาม ตามลำดับ
นายไกรยส กล่าวต่อว่า เเม้เด็กยากจนพิเศษจะได้รับเงินช่วยเหลือในรูปแบบการจัดสรรเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน แต่ยังไม่เพียงพอ เพราะระดับประถมจะได้เงินเฉลี่ยวันละ 5 บาท มัธยมศึกษาวันละ 15 บาท ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับค่าครองชีพในปัจจุบัน เเละพบว่าความยากจนเป็นสาเหตุที่ทำให้นักเรียนยากจนจำนวนมากมีความเสี่ยงที่จะออกจากระบบการศึกษา ซึ่งกสศ.มีเเผนช่วยเหลือ โดยจะมีการประชุมรับฟังความเห็นเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายจากทุกภาคส่วน 4 ภูมิภาค ในช่วงเดือนสิงหาคมและต้นเดือนกันยายนนี้เพื่อให้การสนับสนุนของ กสศ.เกิดประโยชน์ไปถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง ระหว่างที่รอการเสนองบประมาณจากรัฐบาล
ด้านนายสมพงษ์ จิตระดับ ที่ปรึกษากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า เงินเป็นปัจจัยพื้นฐานในการนำไปศึกษาต่อ แต่ครูหรืออาจารย์เป็นสิ่งสำคัญที่จะต่อยอดเงินก้อนนี้เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของเด็ก มองความยากจนช่วยผลักดันให้ชีวิตเดินต่อไปข้างหน้า ตนมองว่ามากกว่าการให้ตัวเงินช่วยเหลือคือการที่มีครูคอยให้กำลังใจก้าวผ่านปัญหาไปได้ ส่วนเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องเร่งทำมากกว่าหลายนโยบาย เพราะการศึกษาช่วยลดความเหลื่อมล้ำเเละเปลี่ยนฐานะทางสังคมได้ ที่ผ่านมาดำเนินการช้า อ้างติดระเบียบ ดังนั้นรัฐต้องเห็นความสำคัญ และสร้างเครือข่ายการทำงาน / กล้ากระจายอำนาจ ขับเคลื่อนนโยบายจังหวัดไปในทางเดียวกัน
ขณะที่ตัวเเทนโรงเรียนที่มีเด็กยากจนพิเศษ กล่าวว่า เด็กส่วนใหญ่ฐานะยากจน พ่อเเม่ทำงานรับจ้างไม่มีความรู้ ครอบครัวเเตกเเยกเด็กอยู่กับปู่ย่าตายาย ขาดเเคลนเรื่องอาหารการกิน ทั้งขาดครูให้ความรู้ เพราะโรงเรียนขนาดเล็ก ครูมีไม่ถึง 3 คนอยากให้เพิ่มค่าสนับสนุน จากเดิมให้ 500 ต่อภาคเรียนซึ่งน้อยมาก.-สำนักข่าวไทย