กรุงเทพฯ 19 ก.ค. – กนอ.เตรียมพื้นที่รองรับการลงทุนอีอีซีเร็วกว่าแผน ทำได้แล้วกว่า 1.2 แสนไร่ จากเป้าหมายที่สำนักงานอีอีซี มอบหมายให้เตรียม 1.5 แสนไร่ในปี 64
นางสุวัฒนา กมลวัทนนิศา รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) สายงานยุทธศาสตร์และพัฒนา เปิดเผยว่า ตามที่ กนอ.ได้รับมอบหมายจากสำนักงานคณะกรรมการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ให้เตรียมพื้นที่รองรับการลงทุน 150,000 ไร่ภายในปี 2564 ล่าสุดจนถึงวันนี้ กนอ.เตรียมพื้นที่รองรับโครงการลงทุน 33 นิคมอุตสาหกรรม พื้นที่รวม 124,606 ไร่ ทั้งนี้ ยังไม่รวมการพัฒนาพื้นที่เขตอุตสาหกรรมและสวนอุตสาหกรรมที่อยู่ในการดูแลของกรมโรงงานอุตสาหกรรมอีกจำนวนหนึ่ง ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า กนอ.สามารถเตรียมพื้นที่รองรับการลงทุนได้เร็วกว่าเป้าหมายที่ได้รับจากสำนักงานอีอีซี
นอกจากนี้ ยังมีเอกชนสนใจจะลงทุนพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอีก 20 โครงการ พื้นที่รวมกว่า 35,782ไร่ แต่กลุ่มนี้ยังติดเรื่องเขตที่ตั้งโครงการอยู่ในพื้นที่สีเขียว ซึ่งเป็นพื้นสำหรับเกษตรกรรม กนอ.จะส่งเรื่องไปหารือกับกรมโยธาธิการและผังเมืองเพื่อหาทางออก เพราะโครงการจะทำได้ต่อเมื่อตั้งอยู่ในพื้นที่สีม่วงสำหรับรองรับภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น โดยโครงการที่สนใจ 20 โครงการนี้อยู่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา 24,71 8 ไร่ ชลบุรี 6,606 ไร่ และระยอง 4,458 ไร่
สำหรับในช่วง 8 เดือนของปีงบประมาณ 2561 (ต.ค.60-พ.ค.61) มีโครงการลงทุนในพื้นที่อีอีซีรวม 997 ไร่วงเงินลงทุนรวมกว่า 22,600 ล้านบาท มีการจ้างงาน 2,170 คน สาเหตุที่มีการใช้พื้นที่น้อย เนื่องจากอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง จึงไม่ต้องการพื้นที่สำหรับโครงการลงทุนมากอีกต่อไป ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2561 กนอ.ตั้งเป้าหมายขายพื้นที่รองรับโครงการลงทุนรวม 3,500 ไร่ แบ่งเป็นในเขตอีอีซี 736 ไร่ พื้นที่นอกอีอีซี 2,561ไร่ เชื่อว่าช่วงเวลาที่เหลือจะสามารถทำได้ตามเป้าหมาย
ในวันนี้ กนอ.ยังลงนามให้บริษัท บ่อทองอินดัสทรี เทคโนโลยีจำกัด เพื่อจัดตั้งนิคมร่วมดำเนินงานภายใต้ชื่อ นิคมอุตสาหกรรมบ่อทอง 33 ในอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี พื้นที่นอกอีอีซี ลงทุนด้วยงบประมาณ 1,710 ล้านบาท ซึ่งนิคมฯ ดังกล่าวจะถูกพัฒนาให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมรองรับอุตสาหกรรม S-Curve ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์อุตสาหกรรม เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ และอุตสาหกรรมเบา เช่น เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น และมีการออกแบบนิคมอุตสาหกรรมภายใต้แนวคิด นิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Estate) ที่มีการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล อาทิ การจัดให้มีพื้นที่สีเขียวและพื้นที่แนวกันชนเชิงนิเวศ (Eco-Belt) รอบพื้นที่โครงการฯ การออกแบบระบบ Reclaimed Water System เพื่อนำน้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดแล้วกลับมาปรับปรุงคุณภาพน้ำและนำกลับไปใช้ในกระบวนการผลิตน้ำประปาในการผลิตอีกครั้ง โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการนำเสนอข้อมูลโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) กับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ยังมีนโยบายส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมรับคนงานในพื้นที่เข้าทำงาน เพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นมีงานทำและมีรายได้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจชุมชน และเศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้น
สำหรับทำเลที่ตั้งและลักษณะพื้นที่โครงการนิคมฯ บ่อทอง 33 ครอบคลุมพื้นที่ 1,746 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ที่ก่อให้เกิดรายได้ 1,214 ไร่ พื้นที่ระบบสาธารณูปโภค 341 ไร่ พื้นที่สีเขียวและแนวกันชน 191 ไร่ โดยแบ่งการพัฒนาออกเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 ประมาณ 649 ไร่ ระยะที่ 2 ประมาณ 534 ไร่ และ ระยะที่ 3 ประมาณ 565 ไร่ สามารถเชื่อมโยงพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว และพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียนเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมและกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) พร้อมเป็นฐานการผลิตและการดึงดูดการลงทุน นอกจากนี้ นิคมฯ ดังกล่าว ยังอยู่ใกล้ศูนย์กลางคมนาคมหลักของประเทศ พร้อมทั้งยังมีโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่เอื้อต่อการประกอบอุตสาหกรรม ได้แก่ ท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ห่างจากชายแดนไทย-กัมพูชา (ด่านปอยเปต) ประมาณ 87 กิโลเมตรมีระบบถนนที่สามารถเชื่อมโยงไปยังนิคมฯ อื่น ๆ ได้อย่างสะดวก เช่น นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค เขตอุตสาหกรรมกบินทร์บุรี และสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ นอกจากนี้ พื้นที่โครงการเป็นพื้นที่ราบ ไม่มีความเสี่ยงต่อน้ำท่วมถึง และพื้นที่มีความลาดเอียงสามารถระบายน้ำได้ดี
นางสุวัฒนา กล่าวเพิ่มเติมว่า นิคมอุตสาหกรรมบ่อทอง 33 จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อจังหวัดปราจีนบุรี ในการควบคุมดูแลการใช้ประโยชน์ที่ดินให้สอดคล้องกับนโยบายของจังหวัดตามกฎหมายผังเมือง เพื่อไม่ให้เกิดการกระจายตัวของภาคอุตสาหกรรมและจะมีการกำกับดูแลการประกอบกิจการโรงงานให้มีการเติบโตในพื้นที่ที่ได้จัดเตรียมไว้ และสามารถดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลในการเพิ่มพื้นที่อุตสาหกรรมเพื่อรองรับการลงทุนด้านอุตสาหกรรม ทั้งนี้ คาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าเงินลงทุนไม่น้อยกว่า 49,456 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงานไม่น้อยกว่า 11,240 คน และคาดว่าเฟสแรกจะเสร็จภายใน 2 ปี และพร้อมรองรับการลงทุนต่อไป.-สำนักข่าวไทย