นายกฯเปิดประชุมACMECSเสนอแผนแม่บทจัดตั้งกองทุนระดมทุน

โรงแรมแชงกรี-ลา 16 มิ.ย.- นายกรัฐมนตรีเปิดประชุม ACMECS Summit ครั้งที่ 8 อย่างเป็นทางการ พร้อมเสนอจัดทำแผนแม่บท ACMECS ระยะ 5 ปี และจัดตั้งกองทุน ACMECS ระดมทุนพัฒนาโครงการภายใต้แผนแม่บท มั่นใจจะสร้างความเข้มแข็งและความเชื่องโยงในอนุภูมิภาคได้จริง


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสุดยอดผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS Summit) ครั้งที่ 8 ที่โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ โดยมีผู้นำจาก 5 ประเทศสมาชิกเข้าร่วม ได้แก่ สมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโชฮุน เซน นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา นายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อูวินมยิน ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา นายเหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และดาโต๊ะ ปาดูกา ลิม จ็อก ฮอย เลขาธิการอาเซียน

นายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดงานว่าตลอดระยะเวลา 15 ปี นับตั้งแต่การก่อตั้ง ACMECS เมื่อปี 2546 จนถึงวันนี้ ACMECS หรือประเทศที่อยู่ในลุ่มแม่น้ำอิรวดี เจ้าพระยา แม่โขง ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม ได้กลายมาเป็นอนุภูมิภาคที่มีศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจ มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ เป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีประชากรกว่า 230 ล้านคน รวมทั้งเป็นสะพานเชื่อมต่อเศรษฐกิจและตลาดระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก จึงไม่แปลกใจที่นักลงทุนต่างชาติจากทั่วโลกจำนวนไม่น้อยต่างหันมาสนใจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อแสวงหาลู่ทางและขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุน


ขณะเดียวกัน ACMECS กำลังเผชิญกับความท้าทายต่างๆ ทั้งการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคเทคโนโลยีดิจิทัล และมิติความสัมพันธ์ปัญหาทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม มีความซับซ้อนมาก เช่นการเข้าสู่สังคมสูงอายุ กฎระเบียบและมาตรฐานไร้พรมแดน กระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น และคุกคามรูปแบบใหม่ อาทิการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติ

ดังนั้นตลอดปีที่ผ่านมา ประเทศไทยจึงได้ผลักดันการปฏิรูป ACMECS เพื่อให้สามารถรับมือกับบริบทใหม่ของโลกและสิ่งท้าทายที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง   

“ในฐานะเจ้าภาพได้ตั้งหัวข้อการประชุมว่า “การก้าวไปสู่ประชาคมลุ่มแม่น้ำโขงที่เชื่อมโยงกัน” เพราะเชื่อว่าการรวมตัวและความเชื่อมโยงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน จะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายวัตถุดิบ สินค้า แรงงาน ประชาชน และนำประเทศสมาชิกเข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่าและอุปทานของโลกได้ต่อไป ซึ่งหวังว่าต่อไปนี้จะช่วยกันสร้างประชาคม ACMECS ที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียว” นายกรัฐมนตรี กล่าว



นายกฯประกาศแผนแม่บท ACMECSสร้างความเชื่อมโยง 3 “S”

 นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่าประเทศไทย โดยการสนับสนุนจากสมาชิก ACMECS ทั้ง 4 ประเทศ ได้ริเริ่มจัดทำแผนแม่บท ACMECS (ค.ศ. 2019-2023) ซึ่งเป็นแผนแม่บทฉบับแรกของอนุภูมิภาค เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานของ ACMECS ในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า ภายใต้วิสัยทัศน์ “เสริมสร้าง ACMECS ที่เชื่อมโยงกัน ภายในปี ค.ศ. 2023” (Building ACMECS Connect by 2023) ซึ่งแผนแม่บท ACMECS ให้ความสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมาย 3 ประการ ภายใต้สโลแกน 3 “S”(สามเอส) ได้แก่

เอสที่ 1 การเสริมสร้างความเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อในอนุภูมิภาค หรือ Seamless Connectivity โดยเน้นการเติมเต็มโครงสร้างพื้นฐานและเส้นทางคมนาคมทางบก ทางน้ำ และทางอากาศที่ยังขาดหาย (missing links) เพื่อส่งเสริมการไปมาหาสู่กันและการเคลื่อนย้ายของสินค้าและบริการภายในอนุภูมิภาค การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มธุรกรรมการค้าและกิจกรรมทางการเงินในอนาคต และการเชื่อมโยงเครือข่ายด้านพลังงาน เพื่อส่งเสริมความมั่นคง การเข้าถึง และความยั่งยืนทางพลังงานในอนุภูมิภาค

เอสที่ 2 การสอดประสานด้านเศรษฐกิจ หรือ Synchronized ACMECS Economies โดยเน้นการปรับแก้กฎระเบียบด้านการค้าและการลงทุนให้สอดคล้องกัน ลดความซับซ้อนของกฎหมายและระเบียบและจัดการกับอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่ง การเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน และการเคลื่อนย้ายคนข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาค โดยอาศัยการต่อยอดจากการดำเนินการภายใต้กรอบความร่วมมือต่างๆ ในอนุภูมิภาคที่มีอยู่แล้ว ซึ่งหลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อน เช่นการต่อยอดด้านกฎระเบียบด้านการขนส่งสินค้าข้ามแดน หรือ CBTA ภายใต้กรอบ GMS เป็นต้น 

และเอสที่ 3 การพัฒนาภูมิภาคในลักษณะยั่งยืนและมีนวัตกรรม หรือ Smart and Sustainable ACMECS โดยเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการยุคใหม่ โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและสตาร์ทอัพ การเกษตร การท่องเที่ยว การแพทย์ การศึกษา การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities) และความมั่นคงไซเบอร์ รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมในสาขาต่างๆ เช่น การจัดการทรัพยากรน้ำ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดการความเสี่ยงด้านภัยพิบัติ การส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้พลังงานและพลังงานหมุนเวียน

จัดตั้งกองทุน ACMECS Fund ชวนสมาชิกและนักลงทุนระดมเงินพัฒนา

นายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่าการกำหนดทิศทางการดำเนินการให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้นในการบรรลุเป้าหมายของแผนแม่บท ACMECS พวกเราได้เห็นพ้องที่จะจัดทำโครงการระยะเริ่มแรก 2 ปี เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงตามระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (EWEC) และระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ (SEC) ภายใต้โครงการทั้งสามเสาการดำเนินการภายใต้แผนแม่บท คงจะดำเนินการด้วยความลำบาก หากยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของแหล่งเงินทุน ดังนั้นประเทศไทยจึงให้ความสำคัญต่อการจัดหาแหล่งเงินทุนที่มีความยั่งยืน โดยเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุน ACMECS (ACMECS Fund)  เพื่อระดมทุนสำหรับพัฒนาโครงการต่างๆ ภายใต้แผนแม่บท โดยประเทศไทยพร้อมที่จะสนับสนุนการจัดตั้งกองทุน ACMECS ด้วยทุนเริ่มต้นในการก่อตั้งจำนวนหนึ่ง และเพื่อให้กองทุน ACMECS มีความยั่งยืน และสามารถสนับสนุนแผนแม่บทตามเป้าหมาย ทั้งนี้ จึงขอเชิญชวนประเทศสมาชิก และประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาทั้งที่ปัจจุบันมีความร่วมมือในกรอบอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงดั้งเดิม รวมถึงประเทศที่มีศักยภาพ ทั้งในเอเชีย ยุโรป องค์กรระหว่างประเทศรวมถึงสถาบันการเงินต่าง ๆ เข้ามาเข้าร่วมสมทบกองทุน ACMECS ในการสมทบเงินเข้ากองทุนดังกล่าว 

ผลักดันต้นแบบEECศูนย์กลางเศรษฐกิจในภูมิภาค

รัฐบาลไทยได้ดำเนินนโยบายภายในต่างๆ ซึ่งช่วยสนับสนุนแผนแม่บท ACMECS ที่เน้นการสร้างความเชื่อมโยงภายในอนุภูมิภาค คือ นโยบาย Thailand 4.0 ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยบนพื้นฐานของการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อผลักดันให้ไทยเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 อย่างสมบูรณ์ นโยบายการผลักดัน EEC ตัวอย่างโครงการที่เห็นได้ชัดเจน อาทิ การพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) ซึ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง และการส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (First S-curve and New S-curve industries) โดยรัฐบาลไทยให้การสนับสนุนการดำเนินโครงการดังกล่าวภายใต้รูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (Private-Private Partnership) ตามนโยบายประชารัฐควบคู่กับการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อย และกลุ่มสตาร์ทอัพ โดยนโยบายดังกล่าวได้ช่วยพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเศรษฐกิจไทย สร้างงานคุณภาพและส่งเสริมให้ไทยเข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่าและห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาคและของโลก

“อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงของเราจะเข้มแข็งได้ ก็ต่อเมื่อทุกประเทศเจริญก้าวหน้าไปพร้อมๆกัน โดยไม่ทิ้งประเทศใดไว้ข้างหลัง ดังนั้น ไทยจึงให้ความสำคัญกับความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการแก้ไขปัญหาด้านแรงงาน โดยไทยพร้อมเปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวบนพื้นฐานของการสร้างพลังเดินหน้าไปร่วมกัน ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้จัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ หรือ SEZ จำนวนทั้งสิ้น 10 แห่ง ตามบริเวณแนวชายแดน ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ที่ได้รับการคัดเลือกแล้วว่ามีความเหมาะสมสำหรับสร้างเป็นฐานการผลิตที่มีความเชื่อมโยงกับประเทศสมาชิก ACMECS อื่นๆ จึงมีศักยภาพที่จะรองรับแรงงานต่างด้าวได้เป็นจำนวนมาก และรัฐบาลไทยก็มีมาตรการการอำนวยความสะดวกในการจ้างงานแรงงานต่างด้าวในพื้นที่เหล่านี้ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานและวัตถุดิบที่ต้องนำข้ามแดนจากประเทศ ACMECS  อื่นๆ”นายกรัฐมนตรีกล่าว


มั่นใจ ACMECS จะเข้มแข็งเชื่อมโยงได้จริงใน 5 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ ตลอด 15 ปี ที่ผ่านมา อนุภูมิภาค ACMECS ผ่านร้อนผ่านหนาวมาร่วมกัน และเติบโตมาจากภาคเกษตรและพัฒนามาสู่อุตสาหกรรมแปรรูป และอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกเหมือนกัน ขณะนี้พื้นฐานด้านเศรษฐกิจของภูมิภาคครอบคลุมเรื่องอุตสาหกรรมหนักและอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์  การท่องเที่ยว โรงแรม สินค้า บริการ และพลังงาน ซึ่งกำลังสร้างภาพลักษณ์ของ ACMECS ให้เป็นอนุภูมิภาคที่มีพลวัตทางเศรษฐกิจที่สูง ส่วนตัวเชื่อมั่นว่า ความมุ่งมั่นของประเทศสมาชิก ACMECS ที่จะร่วมมือกัน และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในการดำเนินการตามแผนแม่บทจะทำให้ACMECS เป็นประชาคมแม่น้ำโขงที่เชื่อมโยงกันอย่างแท้จริงใน 5 ปีข้างหน้า และต่อจากนั้น จะได้เห็น ACMECS เป็นอนุภูมิภาคที่มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน และคนข้ามพรมแดนอย่างไร้รอยต่อในอนุภูมิภาค และเป็นอนุภูมิภาคที่เป็นสะพานที่แท้จริงที่เชื่อมต่อเศรษฐกิจและตลาดของมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิกและของเศรษฐกิจอื่นๆ กับภาคพื้นทวีปเอเชียและของโลก ปัจจุบัน กลุ่มประเทศ ACMECS เป็นตลาดที่มีศักยภาพมาก เพราะแม้เศรษฐกิจโลกซบเซา แต่กลุ่มประเทศ ACMECS มีประชากรรวมกันซึ่งเป็นวัยกำลังทำงานจำนวนมาก มีกำลังซื้อมาก และเป็นแหล่งการผลิตที่สำคัญของโลก ทั้งภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมที่หลากหลาย นับเป็นแม่เหล็กสำคัญในการดึงดูดการลงทุนจากประเทศใหญ่ๆ ทั่วโลก จึงเชื่อว่านับจากนี้ จะได้เห็น ACMECS เป็นอนุภูมิภาคที่มีความรับผิดชอบและมีส่วนร่วมที่สร้างสรรค์ในประชาคมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องของการส่งเสริมพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยประชาชนจะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ผู้ประกอบการและเกษตรกรของเราจะเป็นคนยุคใหม่ที่ก้าวหน้าสามารถนำเทคโนโลยีและดิจิทัลเข้ามาผสมผสานกับวิถีชีวิตและการปฏิบัติงานทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรม ทำให้มีความสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ จะเห็นว่าแผนแม่บทให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การฝึกอบรม และการเรียนรู้ ประชาคม ACMECS ต้องสามารถแข่งขัน

อย่างไรก็ตาม ขาติสมาชิกได้เห็นพ้องแล้วว่า การพัฒนาในอนุภูมิภาคจะต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป ดังนั้น แผนแม่บท ACMECS จึงให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมในสาขาต่างๆ เช่น การจัดการทรัพยากรน้ำ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดการความเสี่ยงด้านภัยพิบัติ การส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้พลังงานและพลังงานหมุนเวียน นอกจากนี้ ประเทศสมาชิก ACMECS จะต้องผลักดันความร่วมมือในลักษณะความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน ตลอดจนประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา เพื่อให้ความร่วมมือตามเสาหลักต่างๆ ภายใต้แผนแม่บท มีดำเนินการและเกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งด้านการส่งเสริมความเชื่อมโยงทั้งสามเสาภายใต้แผนแม่บท ACMECS 

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ส่วนตัวมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งกับความพยายามของประเทศสมาชิก ACMECS ที่จะสนับสนุนความเชื่อมโยงและการพัฒนาแบบยั่งยืนได้รับการสนับสนุนจากประชาคมโลก ซึ่งเห็นได้จากสารและวีดีโอแสดงความยินดีจากผู้นำและรัฐมนตรีจากหลายประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ จึงขอขอบคุณมาในโอกาสนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ประเทศและองค์กรเหล่านี้ จะสามารถสนับสนุนแผนแม่บท ACMECS เพื่อสร้างความเชื่อมโยงทั้งสามเสาได้เป็นอย่างดี โดยคำนึงถึงการบรรลุผลประโยชน์ร่วมกัน (win-win cooperation) และสะท้อนถึงความต้องการที่แท้จริงของประเทศสมาชิก ACMECS นอกจากนี้ ยังมีความยินดีที่ภาคเอกชน ACMECS มีความตื่นตัว เพราะทราบมาว่าสภาธุรกิจ ACMECS ได้ประชุมและเตรียมพร้อมที่จะมานำเสนอข้อคิดเห็นของภาคเอกชน ACMECS ในวาระการประชุมต่อไปเช่นกัน การรวมตัวของ ในวันนี้ ถือเป็นการส่งสัญญาณสำคัญต่อประชาคมโลกว่า ACMECS พร้อมที่จะผนึกกำลังเป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อเดินหน้าและกำหนดทิศทางขับเคลื่อนความร่วมมือของ ACMECS ในการสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนในอนุภูมิภาค โดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง มั่นใจว่า หากสามารถร่วมมือกัน มีการสอดประสานกันด้านนโยบาย มีการเชื่อมต่อกับทุกภาคส่วน ACMECS จะกลายเป็นอนุภูมิภาคเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นกลจักรสำคัญของความกินดี อยู่ดีของโลกได้อย่างแท้จริง.- สำนักข่าวไทย      

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

สาวซิ่งรถหรูชนท้าย จยย. ทำแม่ลูกดับ 3 ศพ

แม่ขี่ จยย.ไปรับลูก 2 คน กลับจากเรียนพิเศษ ถูกสาวขับรถหรูซิ่งชนท้าย ร่างกระเด็นตกสะพานข้ามรางรถไฟ เสียชีวิตทั้ง 3 คน ส่วนผู้ก่อเหตุอุ้มแมว ทิ้งรถ หลบหนีไป

ปิดล้อมล่ามือปืนคลั่งสังหาร 3 ศพ

ตำรวจเร่งไล่ล่ามือปืนคลั่งก่อเหตุยิง 3 ศพ ในพื้นที่ จ.หนองบัวลำภู ล่าสุดปิดล้อมพื้นที่กว่า 1,000 ไร่ รอยต่อ จ.เลย หลังพบเบาะแสคนร้ายหนีไปซ่อนตัว ขณะที่ชนวนสังหารยังไม่แน่ชัด

ลูกชายมือปืนคลั่งยิง 3 ศพ พาครอบครัวหนีตาย พ่อโพสต์ขู่ฆ่าล้างครัว

ลูกชายมือปืนคลั่งยิงดับ 3 ศพ ต้องพาภรรยาและลูก รวมถึงพ่อตา-แม่ยาย หนีไปอยู่ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง หลังพ่อโพสต์ข้อความขู่จะฆ่าล้างครัว เหตุจากปัญหาในครอบครัว

ชายคลั่งยิง3ศพ

ชายคลั่งยิงดับ 3 ศพ โผล่วัดที่ จ.เลย ขอข้าวกิน ก่อนหนีเข้าป่า

แม่ครัววัดภูคำเป้ ต.ผาสามยอด อ.เอราวัณ จ.เลย เผยพบชายคลั่งยิงดับ 3 ศพ เดินเข้ามาในวัดด้วยสภาพอิดโรย ขอข้าวกิน ลักษณะรีบกินเหมือนวิตกกังวล หลังกินเสร็จรีบเดินเข้าป่าหายไป ก่อนมาทราบภายหลังว่าเป็นผู้ก่อเหตุยิงคนเสียชีวิต

ข่าวแนะนำ

เตรียมรื้อถอนคานถล่ม ถ.พระราม 2-กู้ร่างผู้สูญหาย

ช่วงบ่ายนี้ (29 พ.ย.) จนท.กรมทางหลวง สภาวิศวกรรมสถาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมนำรถเครนรื้อถอนเหล็กถักที่ถล่มบน ถ.พระราม 2 โดย ปภ.สมุทรสาคร ไม่มั่นใจว่าการดำเนินการจะจบภายในวันเสาร์-อาทิตย์นี้หรือไม่

คานถล่มพระราม2

ตร.ทางหลวง แนะเลี่ยงถนนพระราม 2 หลังการจราจรเข้าขั้นวิกฤต

ตำรวจทางหลวง เผยการจราจรถนนพระราม 2 เข้าขั้นวิกฤต แนะเส้นทางเลี่ยงทั้งขาเข้าและขาออกกรุงเทพมหานคร ยังไม่ชัดเปิดการจราจรได้ตามปกติเมื่อใด

คานถล่มพระราม2

“สุริยะ” สั่งผู้รับเหมาหยุดก่อสร้าง ถ.พระราม 2 ตัดสิทธิรับงาน 2 ปี

“สุริยะ” รมว.คมนาคม เผยเย็นวันนี้เตรียมกลับไปตรวจสอบสาเหตุคานเหล็กก่อสร้างบนถนนพระราม 2 ถล่ม สั่งการผู้รับเหมาหยุดก่อสร้าง รวมทั้งตัดสิทธิรับงาน 2 ปี และขอให้เพิ่มความเข้มงวดมาตรการลดชั้นผู้รับเหมา เพื่อลดจำนวนอุบัติเหตุ

น้ำท่วมยะลา

น้ำท่วมยะลาวันที่ 3 ระดับน้ำเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง กระทบ 8 อำเภอ

วิกฤตน้ำท่วมยะลาวันที่ 3 ระดับน้ำเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ย่านการค้าเศรษฐกิจ พื้นที่รอบนอกยังอ่วม ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อุทกภัย สรุปกระทบ 8 อำเภอ ประชาชนเดือดร้อน 131,685 คน