ศาลรัฐธรรมนูญ 30 พ.ค.- การประชุมของศาลจะเริ่มในเวลา 13.30 น. ซึ่งจะรู้ว่าการที่กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. กำหนดเรื่องการช่วยเหลือผู้สูงอายุและผู้พิการในการลงคะแนน และเรื่องการตัดสิทธิ์ทางการเมืองสำหรับผู้ที่ไม่ไปใช่สิทธิเลือกตั้งจะขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
วันนี้ องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะได้ประชุม เพื่ออภิปราย และนำไปสู่การวินิจฉัยและแถลงด้วยวาจา ก่อนลงมติในคำร้องที่ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ส่งความเห็นของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติจำนวน 27 คน ที่ขอให้ศาลวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาตรา 35 (4) และ (5) ที่เป็นเรื่องการตัดสิทธิ์กรณีไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 95 วรรคสาม และมาตรา 92 วรรคหนึ่งกรณีการช่วยเหลือผู้สูงอายุและผู้พิการลงคะแนน มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 85 หรือไม่ ซึ่งในเรื่องดังกล่าวมีความเห็นขัดแย้งกันว่าหากเปิดโอกาสให้มีคนช่วย ผู้สูงอายุและผู้พิการลงคะแนน จะไม่ถือว่าการลงคะแนนนั้นเป็นความลับตามที่กฎหมายกำหนด
หลังจากก่อนหน้านี้องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้องส่งคำชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร และได้มีการอภิปราย มาแล้วในการประชุมครั้งที่ผ่านมา ซึ่งในประเด็นดังกล่าวเป็นที่จับตามอง เนื่องจากหากศาลวินิจฉัยอย่างใดอย่างหนึ่งออกมา ก็จะทำให้เห็นถึงแนวทางที่จะนำไปสู่การเลือกตั้ง โดยเฉพาะหากศาลชี้ว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ขั้นตอนการนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายเพื่อนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมายก็จะดำเนินการต่อไป ทำให้โรดแมปการเลือกตั้ง ไม่สะดุด แต่หากศาลชี้ว่าขัดรัฐธรรมนูญอาจต้องนำไปสู่การปรับแก้ และอาจต้องใช้ระยะเวลาอีกระยะหนึ่ง ซึ่งอาจไม่มากนัก เพราะอาจเป็นการปรับแก้หรือตัดทิ้งทั้งมาตรา
นอกจากนี้ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยังจะพิจารณาความเห็นจากหนังสือและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ในกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ศาลวินิจฉัยว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 140 และมาตรา 141 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสุขแห่งชาติที่ 53 / 2560 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 26 27 และ 45 หรือไม่ ซึ่งในเรื่องดังกล่าวนี้ทางหัวหน้าคสช. ได้ชี้แจงมาแล้ว เช่นเดียวกับ 2 พรรคการเมืองใหญ่ ที่ได้ชี้แจงว่าการที่ คสช. กำหนดในเรื่องการรายงานสมาชิกพรรค ทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติและเกิดความยุ่งยากสำหรับพรรคการเมือง ที่สำคัญคือเป็นการริดรอนสิทธิของประชาชนในเรื่องการสังกัดพรรคการเมือง
ซึ่งในกรณีคำสั่ง คสช. 53/2560 หากศาลมีคำวินิจฉัยก็จะเกิดความชัดเจนสำหรับพรรคการเมืองโดยเฉพาะพรรคเก่าที่จดทะเบียนกับ กกต. ไว้แล้ว และจะครบกำหนดเวลาต้องชี้แจง ในวันท่ี 1 มิถุนายนนี้ แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะพิจารณาวันนี้หรือไม่เพราะเบื้องต้นศาลนัดอภิปรายเท่านั้น.-สำนักข่าวไทย