โรงแรมดุสิตธานี หัวหิน 6 มี.ค.-ครม.เห็นชอบ ปรับแก้ไข 4 มาตราร่าง พ.ร.ก.การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวฉบับใหม่ ยืดเวลามีผลบังคับใช้ 1 ก.ค. 2561 ให้นายจ้าง-ลูกจ้างไปดำเนินการให้ถูกต้อง
พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบร่างพระราชกำหนดการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวฉบับใหม่ ที่ปรับแก้ใน 4 มาตรา ประกอบด้วย มาตรา 101 , มาตรา 102 , มาตรา 119 และมาตรา 122 ซึ่งเกี่ยวกับบทลงโทษนายจ้างและลูกจ้างที่กระทำความผิด ทั้งการเข้าเมืองผิดกฎหมาย ไม่มีใบอนุญาตทำงาน และไม่ขออนุญาตจ้างแรงงานต่างด้าว ซึ่งพระราชกำหนดของปี 2560 กำหนดโทษที่ค่อนข้างรุนแรง จนนำมาสู่การออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ให้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2561 เพื่อให้นายจ้างและลูกจ้างไปดำเนินการถูกต้อง และเพื่อความเหมาะสม เป็นธรรม จึงได้ปรับแก้โดยยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายกับบุคคลต่างด้าวที่มีทักษะ ความสามารถสูงที่เข้ามาลงทุน หรือประกอบกิจการในประเทศไทย เนื่องจากคนเหล่านี้เข้าหลักเกณฑ์ของสมาร์ทวีซ่า นอกจากนี้ให้เปลี่ยนระบบการขออนุญาต เป็นการแจ้งให้ทราบ เพื่อย่นระยะเวลา และไม่เป็นภาระของประชาชนมากเกินไป เช่น การจ้างแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองถูกกฎหมายและมีใบอนุญาตทำงาน หรือการย้ายงานของแรงงานต่างด้าว ขณะเดียวกันให้ยกเลิกประกาศเขตที่พักอาศัยของแรงงานต่างด้าวให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน
พล.ท.สรรเสริญ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังนำข้อสังเกตของกระทรวงแรงงาน และที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ไปปรับแก้ไข เรื่องโทษที่นายจ้างและลูกจ้างจะได้รับ ไม่ให้หนักเบามากเกินไป เช่น ผู้รับเหมาแรงงาน หรือ เอเย่นต์ ต่อจากนี้จะต้องมีใบจ้างงานก่อน ถึงจะสามารถรับแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานได้ เพื่อป้องกันการถูกเอารัดเอาเปรียบหากเข้ามาแล้วไม่มีงานทำ จนนำไปสู่การค้ามนุษย์ พร้อมห้ามนายจ้างเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากแรงงานต่างด้าว ยกเว้นค่าใช้จ่าย 3 กรณี คือ 1.ค่าทำหนังสือเดินทาง 2.ค่าตรวจสุขภาพ และ 3.ค่าทำใบอนุญาต โดยต้องเก็บเดือนละไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ที่แรงงานได้รับ ขณะเดียวกันห้ามนายจ้างเก็บหนังสือเดินทางของลูกจ้างโดยที่ลูกจ้างไม่ยินยอม และจะต้องคืนให้ทันทีที่ลูกจ้างร้องขอ เพื่อป้องกันการต่อรองของนายจ้าง
พล.ท.สรรเสริญ กล่าวด้วยว่า สำหรับโทษตามมาตรา 101 กรณีคนงานต่างด้าวทำงานในประเทศโดยไม่มีใบอนุญาต จากเดิมมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับ 10,000-100,000 บาท เปลี่ยนเป็นปรับ 5,000-50,000 บาท และไม่มีโทษจำคุก มาตรา 102 กรณีนายจ้างรับแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตเข้าทำงาน จากเดิมมีโทษปรับ 400,000-800,000 บาทต่อแรงาน 1 คน เปลี่ยนเป็นปรับ 10,000-100,000 บาทต่อแรงงาน 1 คน และหากนายจ้างกระทำผิดซ้ำโดยรับแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และห้ามนายจ้าที่กระทำผิดซ้ำจ้างแรงงานต่างด้าวเป็นเวลา 3 ปี ทั้งนี้ในบทเฉพาะกาล ได้กำหนดไม่ให้นำมาตรา 101 , 102 และ 119 ไปบังคับใช้จนกว่าจะถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2561 จากเดิมที่ให้มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2561.-สำนักข่าวไทย