กรุงเทพฯ 20 ต.ค.- อธิบดี ปภ. แจง การจัดซื้อเครื่องตรวจจับความเร็วแบบพกพา ยังอยู่ในขั้นตอนตั้งคณะกรรมการจัดทำรายละเอียด ระบุ ไม่ผูกขาดบริษัทใด ด้านปลัดกระทรวงมหาดไทย ยืนยัน ราคาจะสมเหตุสมผล ใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ชี้แจง ที่มาและขั้นตอนการจัดซื้อเครื่องตรวจจับความเร็วแบบพกพา ว่า เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2560 ที่เห็นชอบให้ ปภ. ในฐานะ ฝ่ายเลขานุการ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) จัดหาเครื่องมือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย หลังสถิติ พบว่า 1 ใน 3 ของ ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน เกิดจาก การใช้ความเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ประกอบกับ รัฐบาล ได้กำหนดให้การสร้างความปลอดภัยทางถนนเป็นวาระแห่งชาติ รวมทั้ง เป็นไปตามข้อเสนอของมูลนิธิเมาไม่ขับ และ ภาคีเครือข่าย ที่ต้องการให้ลดอุบัติเหตุทางถนน โดยการจัดซื้อจะใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ในส่วนของงบกลาง เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 849 เครื่อง ราคาเครื่องละ 675,000 บาท ในวงเงินทั้งหมด 573,075,000 บาท ซึ่งวงเงินดังกล่าว เป็นราคากลางที่ได้จากการสอบถามจากบริษัทผู้แทนผู้ค้าในท้องตลาด
อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า ขณะนี้ ปภ.อยู่ระหว่างการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำรายละเอียดและคุณลักษณะของเครื่องตรวจจับความเร็ว หรือTOR ยังไม่ถึงขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องตรวจจับความเร็วแต่อย่างใด การดำเนินการจัดหาเครื่องตรวจจับความเร็วแบบพกพา จะเป็นไปตามระเบียบราชการอย่างเคร่งครัด โปร่งใส เป็นธรรม ประหยัด และคุ้มค่า เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อราชการ ไม่เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการรายใด หรือผูกขาดยี่ห้อหนึ่งยี่ห้อใดโดยราคาเครื่องตรวจจับความเร็ว จะต่ำกว่าราคากลางที่กำหนดข้างต้นอย่างแน่นอน
ด้านนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ราคาเครื่องตรวจจับความเร็วแบบพกพา ต้องสมเหตุสมผล ทั้งประโยชน์การใช้การ และสมรรถนะของเครื่อง ทุกขั้นตอน ตั้งแต่ เรื่องการกำหนดสเปก และ กระบวนการจัดหา ทำอย่างเปิดเผย รัดกุม ดังนั้นอยากเชิญชวนให้ผู้สนใจเข้าร่วมแข่งขันเสนอราคา “เครื่องตรวจจับความเร็วแบบพกพา” เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อราชการ สำหรับเครื่องตรวจจับความเร็วแบบพกพา นี้ จะอยู่ในความรับผิดชอบดูแลของสำนักงาน ปภ.จังหวัด ให้ทุกหน่วยงานในพื้นที่ ได้แก่ ตำรวจ ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ขนส่งทางบก และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถขอรับการสนับสนุน ไปปฏิบัติงานสร้างความปลอดภัยทางถนนโดยมุ่งเป้าดำเนินการบนถนนสายรองที่เป็นเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ได้อย่างต่อเนื่องไม่ได้ใช้เฉพาะในช่วงเทศกาลสำคัญเท่านั้น .-สำนักข่าวไทย