กรุงเทพฯ 29 ก.ย.-สนข.
ยืนยันความพร้อมผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐใช้บริการระบบขนส่งที่เข้าร่วมโครงการ 1 ตุลาคมนี้
นำร่องรถไฟและบขส. ส่วนรถเมล์ ขสมก. ที่จะตามมา วันที่ 17 ตุลาคม หลังแจกบัตรในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลรวม
7 จังหวัด
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข.ยืนยันถึงความพร้อม
การใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สำหรับระบบขนส่งที่เข้าร่วมโครงการฯตั้งแต่ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ว่า สำหรับบริการรถไฟโดยสารและรถโดยสาร
ของบริษัทขนส่ง จำกัด หรือ บขส.สามารถใช้ได้ ส่วนวันที่ 17 ตุลาคม 2560
ผู้มีสิทธิที่ลงทะเบียนใน 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี
พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ นครปฐม และสมุทรสาคร จำนวนประมาณ 1.3 ล้านคน
ซึ่งจะได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (แบบ Hybrid 2 Chips เพื่อรวมข้อมูลเหมือนตั๋วร่วมบัตรแมงมุม
เพื่อใช้ชำระค่าสินค้าและค่าโดยสารตามรายการและวงเงินที่กำหนด
โดยเฉพาะค่าโดยสารรถเมล์ขสมก.และ ระบบรถไฟฟ้า ที่จะตามมาในอนาคต
“สนข.
มั่นใจในความพร้อม
เนื่องจากที่ผ่านมาได้มีการควบคุมคุณภาพของบัตรที่ผลิตเป็นอย่างดี โดยเฉพาะการใช้งานที่ต้องมีการอ่านข้อมูลในบัตร
ต้องทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนปัญหาความขัดข้องนั้น ขอให้มีความระมัดระวังโดยเฉพาะของระบบรถเมล์โดยสาร
ขสมก.
ที่ต้องให้ผู้โดยสารแตะบัตรที่เครื่องอ่านซึ่งมีให้ใช้งานทั้งระบบที่ติดกับตัวรถ
และระบบโมบายโดยพนักงานเก็บค่าโดยสาร
ก็ขอให้มีการซักซ้อมพนักงานและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจเพื่อให้เกิดความคล่องตัว
ในระหว่างการใช้บริการ”ผู้อำนวยการสนข. กล่าว
สำหรับความพร้อมของหน่วยงาน
ที่เป็นผู้ให้บริการระบบขนส่งเหล่านี้ เริ่มจากการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท.
ล่าสุด นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รักษาการผู้ว่าการรฟท. ระบุว่า ในส่วนของร.ฟ.ท.ร่วมกับ
ธนาคารกรุงไทยติดตั้งเครื่อง EDC ประจำสถานีรถไฟทุกแห่ง
444 สถานี จำนวน 534 เครื่อง
เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการใช้งานสำหรับประชาชนที่ลงทะเบียนผู้ที่รายได้น้อยที่ถือบัตร
สามารถนำบัตรมาใช้สิทธิ์ขึ้นรถไฟชั้น 3 ทุกขบวน
ทดแทนโครงการรถไฟฟรีเพื่อประชาชน และการติดตั้งเครื่อง EDC ได้อบรม แนะนำ
วิธีการใช้งานให้กับเจ้าหน้าประจำสถานี เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารที่ถือบัตรสวัสดิการมาใช้บริการเครื่องชำระเงินดังกล่าวที่ช่องจำหน่ายตั๋วทุกสถานีทั่วประเทศ
ขณะนี้ได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องแล้วเสร็จพร้อมใช้งานทุกสถานี
โดยสถานีกรุงเทพได้ติดตั้งมากที่สุด จำนวน 22 เครื่อง เนื่องจากเป็นสถานีหลักและมีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก
ส่วนสถานีอื่น ๆ ได้ติดตั้งจำนวนเครื่องตามความเหมาะสมกับสถานี
เพื่อรองรับประชาชนที่มาใช้บริการ สำหรับการออกตั๋วโดยสารโดยชำระเงินผ่านเครื่อง EDC จะต้องดำเนินการที่สถานีรถไฟเท่านั้น
ส่วนป้ายหยุดรถต่าง ๆ ไม่สามารถออกตั๋วได้ เนื่องจากไม่มีระบบการออกตั๋วออนไลน์ คาดว่าเมื่อเปิดใช้งานแล้วจะมีผู้ใช้บริการรถไฟที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้มีรายได้น้อยมากขึ้น
โดยรถไฟใช้บริการได้จำนวน 500 บาทต่อเดือน
ส่วนบริการรถโดยสาร นายจิรศักดิ์ เยาว์วัชสกุล
กรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส.กล่าวว่า บขส. ได้ประสานธนาคารกรุงไทย ติดตั้งเครื่อง EDC ที่สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ
ทั้ง 3 แห่ง (จตุจักร, เอกมัย,ถนนบรมราชชนนี)
และสถานีเดินรถของ บขส. ทั่วประเทศ รวม 121 จุด
เพื่ออำนวยความสะดวกในการจองซื้อตั๋วโดยสารแก่ผู้ถือบัตรดังกล่าว ซึ่งเงื่อนไขของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในการใช้สิทธิโดยสารรถของ
บขส. ต้องยื่นบัตรแสดงตนในการซื้อตั๋วโดยสารและต้องเป็นผู้เดินทางเองเท่านั้น ,สามารถซื้อตั๋วรถโดยสาร
บขส. ภายในวงเงิน 500 บาทต่อเดือน
กรณีที่ค่าโดยสารเกินวงเงินที่ได้รับต้องจ่ายส่วนต่างเป็นเงินสดเท่านั้น ,สามารถเดินทางไปกับรถโดยสาร
บขส. ได้ทุกมาตรฐาน ทุกเส้นทางสามารถใช้ร่วมกับสิทธิลดหย่อนอื่น ๆ
แต่เมื่อซื้อตั๋วโดยสารแล้วไม่สามารถคืนตั๋วแต่สามารถเลื่อนการเดินทางได้ภายใต้เงื่อนไขที่บขส.กำหนด
และผู้ใช้สิทธิ์สามารถซื้อตั๋วโดยสารได้ที่ช่องจำหน่ายตั๋วของ บขส. ณ
สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ ที่จตุจักร,เอกมัย,ถนนบรมราชชนนี)
และที่ทำการสถานีเดินรถ บขส.ทั่วประเทศ จำนวน121 จุด
นายประยูร ช่วยแก้ว รักษาการ ผู้อำนวยการ ขสมก.
กล่าวว่า ขสมก.ได้ติดตั้งระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-Ticket) ได้จำนวน 200 คัน อีก 600 คัน
เพื่อให้สอดคล้องกับการออกบัตรสวัสดิการ
ขสมก.ได้ใช้เครื่องอ่านบัตรอิเล็กทรอนิกส์มือถือ แบบโมบาย โฟน และทาง
ขสมก.จะติดตั้งเครื่องอ่านบัตร E-ticket ให้ครบ 800 คัน ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2560
หลังจากนั้นติดตั้งอีก 1,500 คัน ในเดือนธันวาคมนี้ และครบ 2,600 คัน ในเดือนมิถุนายน
2561 สำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ
จะต้องนำบัตรมาแตะที่เครื่องอ่านบัตรในขณะที่ขึ้นและลงรถโดยสาร
เป็นการตัดค่าโดยสารอย่างอัตโนมัติ ซึ่งรถโดยสารทั้ง 800 คัน
จะติดสติ๊กเกอร์สีเขียวข้อความ “รถคันนี้ใช้ระบบเก็บเงินอัตโนมัติ”
แทนที่ข้อความ “รถเมล์ฟรีจากภาษีประชาชน” ที่กระจกด้านหน้า ด้านข้าง
และด้านหลังรถโดยสาร
ส่วนระบบรถไฟฟ้า บัตรดังกล่าวจะเชื่อมต่อเข้ากับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์
รถไฟฟ้าสายสีม่วง และรถเมล์ทั้ง 2,600 คัน ภายในเดือนมีนาคม ปี 2561 ก่อนจะเชื่อมต่อเข้ากับรถไฟฟ้าบีทีเอส
รวมถึงรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ในกลางปี 2561
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเดินทางบัตรสวัสดิการของประชาชน
ในส่วนของธนาคารออมสินมีผู้ผ่านคุณสมบัติ 3.5 ล้านราย
แจกบัตรสวัสดิการไปแล้ว 1 ล้านราย สำหรับ ธ.ก.ส. มีผู้ผ่านคุณสมบัติ 6.16 ล้านราย
รับบัตรสวัสดิการไปแล้ว 2.77 ล้านราย–สำนักข่าวไทย