กรุงเทพฯ 26 ก.ย. – กรมชลประทานจับมือ กปน.บริหารจัดการน้ำอุปโภคบริโภคอย่างยั่งยืน เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นในอนาคต
นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกรมชลประทานกับการประปานครหลวง (กปน.) ครั้งนี้เป็นการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงาน เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการน้ำอุปโภคบริโภคให้เพียงพอกับความต้องการและสอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน ตลอดจนร่วมกันพัฒนาแหล่งน้ำและแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อลดปัญหาปริมาณน้ำและคุณภาพน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคอย่างยั่งยืน ในลักษณะการบูรณาการทำงานร่วมกัน โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง หรือหลักเกณฑ์ ธรรมเนียมปฏิบัติของแต่ละหน่วยงาน
ทั้งนี้ ภายใต้เอ็มโอยูดังกล่าว กรมชลประทานและ กปน.จะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพื่อใช้ทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ กรมชลประทานจะสนับสนุนให้ กปน.เข้าร่วมเป็นตัวแทนในคณะกรรมการจัดการชลประทาน (Joint Management committee: JMC) ของพื้นที่ลุ่มน้ำทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเกิดประโยชน์สูงสุดสอดคล้องกับภารกิจของกรมชลประทาน รวมทั้งยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปีของรัฐบาลที่กรมชลประทานได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบยุทธศาสตร์การจัดการน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคอีกด้วย
ด้านนายปริญญา ยมะสมิต ผู้ว่าฯ กปน. กล่าวว่า กปน.มีภารกิจในการสำรวจ จัดหาแหล่งน้ำดิบพร้อมผลิตและให้บริการน้ำประปาที่มีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานน้ำดื่มขององค์การอนามัยโลกให้ประชาชนผู้ใช้น้ำในเขตจังหวัดกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ กว่า 13 ล้านคน ปัจจุบันสามารถให้บริการน้ำประปา คิดเป็นร้อยละ 99 ของพื้นที่ที่ให้บริการ ผลิตจ่ายน้ำเฉลี่ยวันละ 5.9 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะนี้ความต้องการใช้น้ำทุกภาคส่วนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากสถิติเมื่อปี 2559 มีการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค 2,172.34 ล้านลูกบาศก์เมตร คาดว่าปี 2590 จะสูงถึง 2,800 ล้านลูกบาศก์เมตร เนื่องจากการเพิ่มของจำนวนประชากร การขยายตัวของภาคบริการด้านการท่องเที่ยว ด้านการค้าขาย ตลอดจนภาคอุตสาหกรรม ซึ่งการลงนามบันทึกความเข้าใจครั้งนี้ ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีจะนำไปสู่การใช้ทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด อันจะเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่พี่น้องประชาชนตามนโยบายบำบัดทุกข์บำรุงสุขของกระทรวงมหาดไทย และจะเป็นส่วนสำคัญทำให้การบริหารทรัพยากรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเกิดความยั่งยืน และเพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นในอนาคตต่อไป.-สำนักข่าวไทย