กรุงเทพฯ 26 ก.ย. – ธปท.ย้ำมาตรการ D-SIBs ช่วยสร้างความแข็งแกร่งสถาบันการเงิน ยันเงินฝากไม่ได้รับผลกระทบ ขอประชาชนอย่ากังวล
นางฤชุกร สิริโยธิน รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การประกาศหลักเกณฑ์กำกับดูแลสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบ (Domestic Systemically Important Banks : D-SIBs) นั้นเป็นมาตรการที่มุ่งส่งเสริมให้ระบบสถาบันการเงินโดยรวมของประเทศมีเสถียรภาพและเป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล โดยเงินฝากของประชาชนจะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะเป็นการช่วยยกระดับความเข้มแข็งของสถาบันการเงินโดยรวม ขอให้ประชาชนอย่ากังวลใจ พร้อมย้ำว่า หลักเกณฑ์ดังกล่าวไม่ใช่มาตรการใหม่ แต่เป็นมาตรการที่หลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ เยอรมันนี เป็นต้น ประกาศและปฏิบัติก่อนหน้านี้นานแล้ว ซึ่งการที่นำมาใช้ในประเทศไทยขณะนี้ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะปัจจุบันธนาคารขนาดใหญ่ทุกแห่งมีระดับเงินกองทุนสูงกว่าเกณฑ์ที่ ธปท.กำหนดค่อนข้างมาก สะท้อนถึงความสามารถในการรองรับความเสียหายของธนาคารพาณิชย์ว่าจะสามารถรับมือยามที่ประสบปัญหาทางการเงินได้
ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ที่เป็น D-SIBs ทั้ง 5 แห่ง ต้องดำรงเงินกองทุนชั้นที่ 1 เพิ่มจากอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำอีกร้อยละ 1 ภายในปี 2563 โดยให้ทยอยดำรงเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 ในปี 2562 และปี 2563 ตามลำดับ ซึ่งอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (CET1 Ratio) ปี 2562 อยู่ที่ร้อยละ 7.5 และปี 2563 อยู่ที่ร้อยละ 8.0 อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (CAR Ratio) ปี 2562 อยู่ที่ร้อยละ 11.5 และปี 2563 อยู่ที่ร้อยละ 12 รวมทั้งจะต้องปฏิบัติตามมาตรการกำกับดูแลอื่น ๆ เพิ่ม อาทิ การรายงานข้อมูลต่าง ๆ ทั้งนี้ ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ทั้ง 5 แห่ง มีความแข็งแกร่ง มีเงินกองทุนอยู่ในระดับสูงกว่าอัตราที่ ธปท. กำหนดมากและเพียงพอรองรับการดำรงเงินกองทุนส่วนเพิ่มตามมาตรการดังกล่าว
นายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า หลักเกณฑ์ที่ ธปท. ใช้พิจารณาธนาคารที่เข้าเกณฑ์ D-SIBs ประกอบด้วย 4 ปัจจัย ได้แก่ ขนาดของสถาบันการเงิน ความเชื่อมโยงการทำธุรกรรมระหว่างกัน การเป็นผู้ให้บริการทางการเงินที่สำคัญหรือการเป็นผู้ให้บริการหลักในโครงสร้างพื้นฐานของระบบสถาบันการเงิน และความซับซ้อนของผลิตภัณฑ์ทางการเงินหรือกระบวนการดำเนินธุรกิจ ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ตามมาตรฐานสากลที่ผู้กำกับดูแลในต่างประเทศใช้ สำหรับธนาคารพาณิชย์ที่เข้าหลักเกณฑ์ 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ส่วนระยะต่อไปถ้ามีธนาคารอื่นเข้าหลักเกณฑ์เพิ่มจะมีการประกาศอีกครั้ง นอกจากนี้ มั่นใจว่าจะไม่กระทบกับการดำเนินธุรกิจและให้บริการของธนาคารพาณิชย์อื่น ๆ นอกเหนือจาก 5 ธนาคารนี้
ส่วนกระแสข่าวว่ามีประชาชนบางพื้นที่แห่ถอนเงินจากธนาคาร 5 แห่งนี้ เพราะมีความสับสนและเกรงว่าเงินฝากของตนจะได้รับความเสี่ยงนั้น ยืนยันว่ายังไม่ได้รับรายงานเรื่องดังกล่าว มองว่าอาจจะเป็นความเข้าใจผิด ขอให้ประชาชนตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียดถี่ถ้วนก่อน ซึ่ง ธปท.ดูแลและติดตามอย่างใกล้ชิด.-สำนักข่าวไทย