โรคไอกรน มีส่วนป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน แต่วัคซีนป้องกันไอกรนมีกี่ชนิด เคยฉีดแล้ว ต้องฉีดอีกหรือไม่ เมื่อใด และใครบ้างที่ควรฉีด
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ รศ.ดร.นพ.นพพร อภิวัฒนากุล หัวหน้าหน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
“วัคซีนไอกรน” อยู่ในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข
เด็กไทยอายุ 2 เดือน จะได้รับการฉีดวัคซีนพื้นฐาน ดังนี้ วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน ตับอักเสบบี-ฮิบ [DTP-HB-Hib1 (Haemophilus influenzae type b)]
วัคซีนไอกรนเป็นวัคซีน “เชื้อตาย” หลังจากฉีดวัคซีนเข้าไปแล้วตัววัคซีนจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน (Antibody) อยู่ในกระแสเลือดของเรา
เมื่อมีแบคทีเรียไอกรน (Bordetella pertussis : B. pertussis) เข้าสู่ร่างกาย แบคทีเรียไอกรนจะปล่อย “สารพิษที่” ทำให้เกิดโรค ถ้าเคยฉีดวัคซีนไอกรนมาก่อนภูมิคุ้มกันก็จะไปจับกับสารพิษนั้น สารพิษก็จะไม่ออกฤทธิ์เราก็จะไม่เป็นโรค
วัคซีนไอกรนในท้องตลาดมี 2 ชนิด (เป็นเชื้อตาย) ได้แก่ (1.)ทำจากแบคทีเรียทั้งตัว (2.)ทำจากโปรตีนส่วนหนึ่งของเชื้อ เรียกว่าSubunit Vaccine โดยวัคซีนทั้ง 2 ชนิดมีประสิทธิภาพกระตุ้นภูมิคุ้มกันพอ ๆ กัน
วัคซีนที่ทำจากแบคทีเรียทั้งตัวมีตัวกระตุ้นมาก ฉีดแล้วเด็กบางคนมีไข้ขึ้นได้ ส่วนน้อยมาก ๆ อาจจะมีไข้จนชัก แต่โดยทั่วไปถือว่าวัคซีนไอกรนมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูง
ในเด็กบางคนฉีดวัคซีนไอกรนแล้วมีไข้สูง เคยชัก ถ้าคุณพ่อคุณแม่เกิดความกังวล ครั้งต่อไปอาจเลือกวัคซีนที่เป็น Subunit ได้ แต่วัคซีน Subunit ชนิดนี้ยังไม่ฟรีต้องมีค่าใช้จ่ายด้วย ซึ่งต่างจากวัคซีนแบคทีเรียทั้งตัวที่กระทรวงสาธารณสุขฉีดให้ฟรี
วัคซีนที่ทำจากแบคทีเรียทั้งตัวกระทรวงสาธารณสุขฉีดให้ฟรี ไม่ใช่เป็นวัคซีนไม่ดี เพียงแต่มีผลข้างเคียงมากกว่าวัคซีน Subunit นิดหน่อยเท่านั้น
หญิงตั้งครรภ์ และเด็กแรกเกิด ได้รับวัคซีนไอกรน เมื่อไหร่ ?
ปกติเด็กจะได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกตั้งแต่อายุ 2 4 6 เดือน จากนั้นไปฉีดเข็มกระตุ้นเมื่ออายุ 1 ขวบครึ่ง และ 4 ขวบ
ปกติวัคซีนไอกรนไม่ได้มาตัวเดียว แต่มาเป็นชุด 5 ตัวในเข็มเดียวกัน คือ วัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ตับอักเสบบี และ ฮิบ (แบคทีเรียที่ทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ) การฉีดครอบ 5 เข็มก็ถือว่าเป็นการฉีดครบชุด
เนื่องจากภูมิคุ้มกันไอกรนไม่ได้อยู่ตลอดชีวิต จึงต้องฉีดกระตุ้นตอนอายุ 11-12 ขวบ จากนั้นกระตุ้นทุก 10 ปี
ใครก็ตาม ที่เคยได้รับการฉีดวัคซีนไอกรนเข็มสุดท้ายนานกว่า 10 ปีมาแล้ว ควรจะต้องไปฉีดวัคซีนไอกรนเข็มกระตุ้น หรือถ้าป้องกันไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ถ้าติดเชื้อไอกรนอาการก็จะไม่รุนแรง
การฉีดวัคซีนไอกรนมีอีกกลุ่มที่สำคัญมากคือ หญิงตั้งครรภ์ เพราะเด็กแรกเกิดกว่าจะได้ฉีดวัคซีนไอกรนเข็มแรกก็ต้องรออายุ 2 เดือน ที่สำคัญวัคซีนไอกรนจะทำงานได้ดีก็ต่อเมื่อได้รับ 3 เข็มไปแล้ว ดังนั้นเด็กจำเป็นต้องได้รับภูมิคุ้มกันจากแม่
แม่เด็กจะมีภูมิคุ้มกันที่สูงได้อย่างไร นั่นคือแม่ต้องได้รับวัคซีนไอกรนช่วงตั้งครรภ์ ตั้งแต่ 27-36 สัปดาห์ จำนวน 1 เข็ม (คอตีบ-ไอกรน-บาดทะยัก) และเมื่อคลอดลูกออกมาลูกก็ได้รับภูมิคุ้มกันด้วย
วัคซีนไอกรนปลอดภัย ได้รับการพิสูจน์มายาวนานแล้ว
วัคซีนทุกชนิดมีผลข้างเคียงอยู่แล้ว และไม่มีวัคซีนตัวไหนปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์
วัคซีนไอกรนสามารถทำให้เกิดไข้ได้ แต่ว่าเป็นเพียง 1 วัน เมื่อได้รับยาลดไข้อาการก็หายเป็นปกติ
มีเด็กบางคน (ส่วนน้อยมาก ๆ) อาจมีไข้สูงและชักได้ แต่หลังจากไข้ลดลงแล้วอาการชักก็ไม่มีผลต่อพัฒนาการ ไม่มีผลต่อสมองเด็ก เรียกได้ว่าวัคซีนไอกรนมีความปลอดภัยค่อนข้างสูง และไม่ต้องการให้ผู้ปกครองกังวลจนกระทั่งไม่พาบุตรหลานไปรับวัคซีน
ดังนั้น ถ้าเด็กเล็กยังไม่ได้รับวัคซีนและติดเชื้อไอกรน โอกาสมีภาวะแทรกซ้อนสูงกว่าผลข้างเคียงจากการได้รับวัคซีน
เด็กเล็กอาจมีอาการรุนแรงถ้ามีภาวะแทรกซ้อนสูง คือเด็กเล็กอายุก่อน 6 เดือน เด็กเหล่านี้ป่วยเป็นไอกรนแต่ไม่มีอาการไอ บางคนนอนเล่นยิ้มอยู่แต่ก็หยุดหายใจแล้ว หรือบางคนมีไอมากแล้วเลือดออกใต้ตาด้วย บางคนเลือดออกในสมองก็มี บางคนไอจนกระดูกซี่โครงหักก็มี และบางคนเป็นรุนแรงปอดบวมแล้วเสียชีวิตได้
สิ่งที่กลัวมาก ๆ คือกลุ่มเด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน แต่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน ดังนี้
1. ฉีดวัคซีนในแม่ขณะที่ตั้งครรภ์ได้ 27-36 สัปดาห์
2. ฉีดวัคซีนในลูกอายุ 2 4 6 เดือน
สัมภาษณ์โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติมรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ FACTSHEET : วัคซีนป้องกันไอกรน
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter