กทม. 23 พ.ย.-ทนายความภรรยา-ลูก หมอบุญ เผยถูกปลอมลายเซ็นเอกสาร ไม่เคยรับรู้การกระทำใดๆ ของหมอบุญ โดยภรรยาได้หย่าร้างกับหมอบุญ ก่อนปี 66
ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล ภายหลังช่วงเวลา 13.00 น. ภรรยาหมอบุญและบุตรสาว พร้อมทนายความ เดินทางมา พบพนักงานสอบสวนที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล ตามหมายจับข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน โดยภรรยาและลูกไม่ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนแต่อย่างใด
ต่อมา นายชำนาญ ชาดิษฐ์ ทนายความ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน เปิดเผยว่า พาลูกความมามอบตัวตามหมายจับที่มีการปรากฏในสื่อมวลชน และเท่าที่ทราบจากลูกความตัวของ นางจารุวรรณ ภรรยาหมอบุญ และนางสาวนลิน ลูกสาว เล่าว่า ถูกปลอมลายเซ็นและนำเอกสารไปใช้ในการกู้ยืมเงินในโครงการหลอกลวงดังกล่าว ซึ่งก็ไม่รู้ว่าใครเป็นคนกระทำ แต่ที่นางจารุวรรณ ทราบเรื่องเพราะมีหมายฟ้องมาที่บ้าน จึงนำเอกสารมาตรวจสอบทำให้พบว่าเป็นลายเซ็นปลอมของเธอทั้งหมด
นางจารุวรรณ ภรรยาหมอบุญ ยืนยันว่า ไม่เคยไปกู้ยืมเงิน และเซ็นค้ำประกันใดๆ ไม่รู้เห็นกับการกระทำของหมอบุญ และเมื่อตรวจสอบช่วงเวลาที่มีการเซ็นระบุว่าไปกู้ยืมเงินหรือค้ำประกันนั้น มีหลายช่วงเวลามากที่ตรงกับช่วงที่นางจารุวรรณ เดินทางไปต่างประเทศ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะเซ็นเอกสารดังกล่าว
ถามต่อว่ามั่นใจได้อย่างไรว่าลายเซ็นเป็นของปลอม ทนายความกล่าวว่า เรื่องนี้มันพิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์ และนางจารุวรรณ ไม่ใช่เพิ่งมีกรณีถูกปลอมลายเซ็นเคสนี้ แต่ก่อนหน้านี้ก็เคยถูกปลอมลายเซ็นและได้ไปแจ้งความดำเนินคดีมาก่อนหน้านี้แล้ว เพียงแต่ไม่ได้เป็นข่าว เนื่องจากมีทั้งเป็นคดีแพ่งและคดีอาญา อยู่ระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย ที่จะต้องให้นางจารุวรรณไปเซ็นลายเซ็น ตรวจเปรียบเทียบกับสัญญาต้นฉบับที่อ้างว่ามีการเซ็นค้ำประกันเอกสาร หรือทำสัญญาเงินกู้ต่างๆ ในช่วงเวลาที่กล่าวอ้างด้วย ซึ่งอยู่ระหว่างการนัดพร้อมของศาล
ถามต่อว่ามั่นใจได้อย่างไรว่าที่ลูกความกล่าวอ้างว่าเป็นลายเซ็นปลอม ทนายความ บอกว่า ปกติเจ้าของลายเซ็น จะรู้น้ำหนักลายเส้น ตัวหนังสือที่ใช้ของตนเอง หากผิดแปลกไปก็จะรู้อยู่แล้วว่าเป็นของปลอม ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาพบว่าถูกกระทำมาหลายครั้งเป็นลายเซ็นปลอมในเอกสารต่างๆ มากกว่า 200 ฉบับ ซึ่งนางจารุวรรณ มีหลักฐานเอกสารการเข้าออกประเทศ เพื่อที่จะมายืนยันว่าไม่ได้เป็นผู้เซ็นเองจริงตามช่วงเวลาที่ปรากฏในสัญญาที่ไปทำการกู้เงินต่างๆ
ซึ่งเรื่องที่นางจารุวรรณ ถูกปลอมลายเซ็นมีการแจ้งความในช่วงปี 66 ก่อนที่จะเกิดเรื่องล่าสุดนี้แล้ว โดยไปแจ้งกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ให้เอาผิดกับทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
ถามต่อว่า ลูกความสงสัยหรือไม่ว่าผู้ที่เป็นคนปลอมลายเซ็นนั้น คือสามีและพ่อ ทนายความกล่าวว่า ก็อาจเป็นไปได้ ซึ่งผู้ที่เป็นคนลงนามสัญญาในเอกสารกู้ก็คือนายบุญ
ซึ่งการหลบหนีไปต่างประเทศของนายบุญ ตั้งแต่เดือนกันยายน ภรรยาและลูกสาว ก็ไม่ทราบเรื่องมาก่อน ซึ่งเท่าที่ทราบนายบุญและภรรยา ได้หย่าร้างกันไปแล้ว โดยช่วงเวลาที่พบว่ามีการปลอมลายเซ็น ก็เป็นช่วงที่ทั้งคู่หย่าร้างกันไปแล้วด้วย.-417.-สำนักข่าวไทย