สุโขทัย 8 ต.ค. – สถานการณ์น้ำท่วมตัวเมืองสุโขทัย เริ่มคลี่คลาย ด้านโรงพยาบาลสุโขทัย เปิดประตูหน้าให้รถทุกชนิดเข้า-ออกได้แล้ว ขณะที่ สทนช.-กรมชลประทาน ระดมทุกมาตรการลดปริมาณน้ำลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง
วานนี้ (7 ต.ค.) ระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้โรงพยาบาลสุโขทัย ต้องนำกระสอบทรายบิ๊กแบ็กมาปิดกั้นขวางทางน้ำ บริเวณด้านหน้าทางเข้า-ออก ล่าสุดสถานการณ์คลี่คลายแล้ว ประชาชนสามารถใช้บริการโรงพยาบาลสุโขทัยได้ตามปกติ
สทนช.ประสานกรมชลฯ ป้องกันลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ขณะนี้ สทนช. ประสานกับกรมชลประทาน เพื่อป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจในเขตตัวเมืองสุโขทัย รวมถึงการรับน้ำเข้าแก้มลิงทุ่งทะเลหลวง ที่ขณะนี้มีปริมาณน้ำมาก
การระบายน้ำจากทุ่งลุ่มต่ำต่างๆ ในพื้นที่ จ.พิษณุโลก และพิจิตร โดยเฉพาะทุ่งบางระกำ ที่มีปริมาณน้ำเกินความจุ ได้ปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ให้อยู่ในอัตรา 5 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน ไปจนถึงวันที่ 13 ตุลาคมนี้ เพื่อลดปริมาณน้ำในแม่น้ำน่าน ซึ่งจะช่วยให้สามารถระบายน้ำออกจากทุ่งได้ดีขึ้น
ส่วนน้ำที่ท่วมในลุ่มน้ำปิงบริเวณ จ.เชียงใหม่ และลำพูน จะไหลลงสู่เขื่อนภูมิพล จ.ตาก ไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยประเมินว่าน้ำที่จะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่ จ.นครสวรรค์ จะสูงสุดวันพรุ่งนี้ (9 ต.ค.) ในอัตรา 2,500 ลบ.ม.ต่อวินาที ได้ประสานให้ใช้บึงบอระเพ็ดแก้มลิงหน่วงน้ำแม่น้ำน่านที่ไหลมาจาก จ.พิษณุโลก และพิจิตร เข้าไปเก็บไว้ ก่อนที่จะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา
น้ำแม่น้ำเจ้าพระยาจะมีน้ำจากแม่น้ำสะแกกรังไหลมาสมทบ ทำให้มีน้ำไหลเข้าเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 2,700 ลบ.ม.ต่อวินาที คาดว่าเป็นอัตราสูงสุดของฤดูฝนนี้แล้ว
โดยกรมชลประทานจะพยายามคงอัตราการระบายท้ายเขื่อนเจ้าพระยาไม่ให้เกิน 2,200 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อป้องกันผลกระทบต่อประชาชนท้ายเขื่อนให้ได้มากที่สุด ยกเว้นมีฝนตกเพิ่ม อาจปรับการระบายเป็นไม่เกิน 2,400 ลบ.ม.ต่อวินาที
นายธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักการระบายและอุทกวิทยา กรมชลประทาน กล่าวว่า วันพรุ่งนี้ (9 ต.ค.) กรมชลประทานจะทยอยปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ลงอีกจาก 100 ลบ.ม.ต่อวินาที เหลือ 50 ลบ.ม.ต่อวินาที จากนั้นจะปรับลดการระบายน้ำอีกครั้งในวันถัดไป (10 ต.ค. ) เหลืออัตรา 10 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อลดปริมาณน้ำที่จะไหลลงไปสมทบกับแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นการลดผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ซึ่งในช่วงวันที่ 13-24 ตุลาคม จะได้รับอิทธิพลจากภาวะน้ำทะเลหนุนสูง.-สำนักข่าวไทย