กรุงเทพฯ 24 ต.ค. – กพร.ยืนยันไม่มีการใช้วัตถุระเบิดทำเหมืองแร่ในพื้นที่ระยะ 280 เมตรใกล้เคียงถ้ำพระโพธิสัตว์ จังหวัดสระบุรี พร้อมคุมเข้มการทำเหมืองรอบบริเวณดังกล่าว
นายสมบูรณ์ ยินดียั่งยืน รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ชี้แจงว่าตามที่มีข้อกังขาถึงผลกระทบจากการทำเหมืองที่มีการใช้วัตถุระเบิดในระยะ 280 เมตร บริเวณใกล้เคียงถ้ำพระโพธิสัตว์ จังหวัดสระบุรี และอาจจะกระทบต่อภาพสลักนูนต่ำสมัยทวารวดีภายในถ้ำนั้น ทาง กพร.ขอยืนยันว่าได้มีการคุมเข้มและตรวจสอบอย่างเคร่งครัดกับเหมืองแร่ฯ ที่อยู่ห่างจากโบราณสถานในระยะ 1,000 เมตร ซึ่งเป็นระยะที่ต้องติดตามเฝ้าระวัง โดยกรณีพื้นที่บริเวณถ้ำพระโพธิสัตว์มีการอนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่ 2 ราย ได้แก่ บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) เป็นประทานบัตรทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน เพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และหินอุตสาหกรรมชนิดหินดินดานเพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ปัจจุบันบริเวณที่เปิดการทำเหมืองอยู่ห่างจากถ้ำพระโพธิสัตว์ ประมาณ 1,700 เมตร และบริษัท เคมีแมน จำกัด เป็นประทานบัตรทำเหมืองหินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และหินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่อทำปูนขาว ปัจจุบันบริเวณที่เปิดทำเหมืองอยู่ห่างจากถ้ำพระโพธิสัตว์ ประมาณ 3,000 เมตร
นอกจากนี้ บริเวณดังกล่าวยังมีคำขอประทานบัตร 2 ราย ได้แก่ คำขอประทานบัตรของนายสุเมธ เชาวนปรีชา ขอทำเหมืองแร่ดินอุตสาหกรรมชนิดดินซีเมนต์ พื้นที่คำขอประทานบัตรอยู่ห่างจากถ้ำพระโพธิสัตว์ประมาณ 1,500 เมตร และคำขอประทานบัตรของบริษัท ตวงสิทธิ์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ขอทำเหมืองแร่ดินอุตสาหกรรมชนิดดินซีเมนต์ พื้นที่คำขอประทานบัตรอยู่ห่างจากถ้ำพระโพธิสัตว์ ประมาณ 280 เมตร ทั้งนี้ ในการทำเหมืองแร่ดินอุตสาหกรรมชนิดดินซีเมนต์จะไม่มีการใช้วัตถุระเบิดแต่อย่างใด
ปัจจุบันจากการตรวจสอบพบว่า บมจ.ทีพีไอ โพลีน มีพื้นที่ทำเหมืองห่างจากถ้ำพระโพธิสัตว์มีการใช้ปริมาณวัตถุระเบิดไม่เกิน 130 กิโลกรัมต่อจังหวะถ่วง จากผลการตรวจวัดความสั่นสะเทือนและระดับเสียงสูงสุด ระหว่างเดือนมกราคม – มิถุนายน 2559 อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ไม่มีผลกระทบต่อถ้ำพระโพธิสัตว์แต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม การทำเหมืองอาจจะมีความเสี่ยง มีผลกระทบต่อถ้ำพระโพธิสัตว์เมื่อมีระยะห่างน้อยกว่า 1,000 เมตร โดยขึ้นอยู่กับปริมาณวัตถุระเบิดที่ใช้ต่อจังหวะถ่วง ทั้งนี้ กพร.จะกำกับดูแลการประกอบการเหมืองแร่ในบริเวณดังกล่าวให้ปฏิบัติตามแผนผังโครงการทำเหมือง เงื่อนไขแนบท้ายประทานบัตร และหลักวิชาการ หากพบการกระทำผิดจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด.-สำนักข่าวไทย