สภาการศึกษาฯ 5 ก.ย.-คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เห็นชอบหลักการ รร.นิติบุคคล ให้ รร.มีอิสระ-ดูเเลตัวเอง พัฒนาเด็กสู่ความเป็นเลิศ เตรียมร่างกฎหมายเสนอ ครม. คาดมี รร.กว่า 10,000 เเห่งพร้อมเป็นนิติบุคคล
นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ว่า ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการ การให้โรงเรียนมีเสรีภาพในการบริหารจัด ในรูปแบบโรงเรียนนิติบุคคล ซึ่งจะมีความอิสระใน 4 ด้าน ได้แก่ การบริหารจัดการทั่วไป การบริหารงานบุคคล การบริหารการเงิน และการบริหารวิชาการ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการอิสระได้รับความคิดเห็นเรื่องนี้ในหลายเวที ส่วนใหญ่เห็นด้วยและอยากให้ทำให้เป็นจริง เพราะเป็นเรื่องที่พูดกันมานานแล้ว ซึ่งคณะกรรมการอิสระจะต้องกลับมาพิจารณาหารูปแบบของโรงเรียนนิติบุคคลที่เหมาะสม เบื้องต้นได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ความเป็นนิติบุคคล ควรจะต้องมีความหลากหลาย คือมีหลักเกณฑ์สำหรับโรงเรียนที่มีความพร้อม ที่จะมุ่งไปสู่ความเป็นเลิศ และโรงเรียนที่มีปัญหา และจะใช้ความเป็นอิสระเข้าไปแก้ปัญหาได้
นพ.จรัส กล่าวต่อว่า สิ่งสำคัญต้องทำความเข้าใจว่า การเป็นโรงเรียนนิติบุคคล ยังต้องมีเรื่องการกำกับดูเเล การส่งเสริมและสนับสนุนโรงเรียน ไม่ใช่ให้หลุดออกจากระบบ และไม่ได้เปลี่ยนจากโรงเรียนรัฐ ไปเป็นโรงเรียนเอกชน รวมถึงไม่ใช่การปลดคน หรือปรับบุคลากรของรัฐออกจากระบบราชการ โดยทุกเรื่องต้องมีเกณฑ์กลาง เช่น หลักสูตรแกนกลาง ยังคงต้องมี แต่อาจจะเป็นแค่เกณฑ์ต่ำ ไม่ใช่เกณฑ์ที่บังคับให้ทุกโรงเรียนต้องทำ เพราะหากโรงเรียนสามารถทำได้สูงกว่างเกณฑ์ ก็ต้องปล่อยให้ทำได้ ครั้งนี้จะเป็นการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ ซึ่งปัญหาใหญ่ที่จะต้องเข้าไปแก้คือ ปัญหาเรื่องคุณภาพการศึกษา ความเหลื่อมล้ำ และประสิทธิภาพของระบบ ซึ่งไม่ใช่จะให้ใครเป็นผู้รับผิดชอบเท่านั้น ดังนั้นต่อไปนี้กระจายอำนาจไปให้ถึงโรงเรียน หรือสถานศึกษา ซึ่งเรื่องเป็นเรื่องสำคัญ และจะต้องมีการยกร่างกฎหมายขึ้นมาเพื่อให้สามารถดำเนินการได้
ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา กล่าวต่ออีกว่า การปฏิรูปครั้งนี้ นอกจากพ.ร.บ.กองทุน ที่ต้องยกร่างเป็นกฎหมายให้ได้ภายใน 1ปีเพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 กำหนดไว้แล้วยังต้องยกร่างกฎหมายดังกล่าว ขึ้นเพื่อเป็นกฎหมายกลาง ให้โรงเรียนมีอิสระในการบริหารจัดการเป็นนิติบุคคล ซึ่งคาดว่า จะมีโรงเรียนที่มีความพร้อม บริหารจัดการในรูปแบบนิติบุคคลได้ประมาณ 3,000-4,000 แห่งเช่น โรงเรียนประจำจังหวัด เป็นต้น ถ้ารวมกับโรงเรียนที่มีปัญหาและจะใช้ความอิสระมาแก้ไข ก็คิดว่ารวมกันแล้วไม่ถึง 10,000 แต่ที่สุดแล้ว ไม่ใช่ว่าโรงเรียนทั้งหมด 33,000 โรงเรียน จะต้องออกเป็นนิติบุคคลทั้งหมด ยังต้องมีส่วนหนึ่งที่รัฐยังคงต้องดูแลให้การสนับสนุน เช่น โรงเรียนสำหรับผู้พิการ โรงสำหรับถิ่นทุรกันดารห่างไกล
ส่วนที่หลายคนกังวลว่า ถ้าโรงเรียนเป็นนิติบุคคลแล้ว จะทำให้ค่าใช้จ่ายในการเรียนสูงขึ้น ยอมรับว่า มีความเป็นไปได้ แต่ทุกวันนี้ก็มีอยู่แล้ว เพียงแต่มันอยู่ข้างล่าง การดำเนินการเช่นนี้ เป็นการหยิบขึ้นมาทำให้ถูกต้องและเปิดเผย .-สำนักข่าวไทย