กรุงเทพฯ 4
ก.ย. -กรมบัญชีกลางชี้แจงภาวะเงินคงคลังตัวเลขเหลือ 74,907 ล้านบาท เป็นข้อมูลเงินคงคลังคงเหลือ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2559 ระบุการบริหารจัดการเงินคงคลังของกระทรวงการคลัง กำกับดูแลอย่างใกล้ชิดและไม่ต้องการจะถือครองเงินคงคลังไว้มากเกินความจำเป็น เนื่องจากต้องการประหยัดภาระดอกเบี้ยที่เกิดจากการกู้เงิน
นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ตามที่แฟนเพจ “อาณาจักรไบกอน Returns” เผยแพร่ตัวเลขเงินคงคลังปี
2560 เหลือ 74,907 ล้านบาท
ลดลงจากปี 2559 ที่มีอยู่ 235,805 ล้านบาท
ซึ่งแฟนเพจดังกล่าว
แสดงความไม่พอใจและได้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในประเด็นการบริหารการคลังที่ใช้จ่ายงบประมาณ
โดยไม่คำนึงถึงรายรับและไม่มีวิธีการหารายได้เข้ารัฐที่มีประสิทธิภาพนั้น
อธิบดีกรมบัญชีกลางขอชี้แจงว่า
เงินคงคลัง คือ เงินสดคงเหลือในมือของรัฐบาล (Cash on hand) ที่มีสำรองไว้สำหรับใช้จ่าย
ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง ซึ่งจะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสถานการณ์การจัดเก็บรายได้
และการใช้จ่ายเงินของรัฐบาล หากมีการจัดเก็บรายได้มากกว่ารายจ่าย
เงินคงคลังก็จะเพิ่มขึ้น ในทางกลับกัน หากจัดเก็บรายได้ได้น้อยกว่ารายจ่าย
เงินคงคลังก็จะลดลง ดังนั้น ตัวเลขเงินคงคลังปี 2560 เหลือ 74,907 ล้านบาท
เป็นข้อมูลเงินคงคลังคงเหลือ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา
ซึ่งนโยบายในการบริหารจัดการเงินคงคลังของกระทรวงการคลัง มีการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด โดยไม่ต้องการจะถือครองเงินคงคลังไว้มากเกินความจำเป็น
เนื่องจากต้องการประหยัดภาระดอกเบี้ยที่เกิดจากการกู้เงิน
อธิบดีกรมบัญชีกลาง
กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ดีในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 (ตุลาคม 2559 – กรกฎาคม 2560) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ
จำนวน 1,912,725 ล้านบาท
สูงกว่าประมาณการ 6,755 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.4
โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 กระทรวงการคลังคาดว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
สำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ รัฐบาลได้ดำเนินโครงการต่างๆ เช่น
โครงการพัฒนาระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) และการผลักดันนโยบายการจัดทำบัญชีเดียวของผู้ประกอบการ
(Single Financial Account) เพื่อให้ผู้ประกอบการ
SMEs ที่มีหลายบัญชีให้มาทำบัญชีเดียว
เป็นต้น ซึ่งการดำเนินมาตรการดังกล่าว จะช่วยให้ผู้เสียภาษีเข้าสู่ระบบมากขึ้น
ส่งผลให้มีฐานภาษีที่กว้างขึ้น สามารถจัดเก็บภาษีได้ถูกต้องและครบถ้วน
อันจะส่งผลดีต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในอนาคต โดย ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2560
เงินคงคลังคงเหลือจำนวน 258,419 ล้านบาท
ในส่วนของการให้ความช่วยเหลือค่าโดยสารรถไฟผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นกรณีที่รัฐบาลได้เปลี่ยนวิธีการให้ความช่วยเหลือจากเดิมที่เป็นแบบเหมาจ่ายรายเดือนให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นการให้ความช่วยเหลือกับผู้ลงทะเบียนตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ
ปี 2560
โดยกำหนดคุณสมบัติสำหรับผู้มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือ ดังนี้ 1.มีสัญชาติไทย 2.มีอายุตั้งแต่ 18
ปีบริบูรณ์ขึ้นไป (โดยต้องเกิดก่อนวันที่ 16 พฤษภาคม 2542) 3.ว่างงานหรือมีรายได้ที่เกิดขึ้นในปี
พ.ศ. 2559 ทั้งสิ้นไม่เกิน
100,000 บาท 4.ไม่มีทรัพย์สินทางการเงิน
ได้แก่ เงินฝากธนาคาร สลากออมสิน สลาก ธ.ก.ส. พันธบัตรรัฐบาล และตราสารหนี้
หรือถ้ามีทรัพย์สินทางการเงินดังกล่าว จะต้องมีจำนวนรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 100,000 บาท ณ
เวลาใดเวลาหนึ่ง และ 5.ไม่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ตามกฎหมาย
หรือถ้าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ดังกล่าว
จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด
ซึ่งผู้มีสิทธิจะได้รับความช่วยเหลือเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ทั้งนี้ หากพบว่ามีผู้มีคุณสมบัติตามเงื่อนไข
แต่ยังไม่ได้มาลงทะเบียนในปี 2560 สามารถมาลงในทะเบียนในปีถัดไปได้.–สำนักข่าวไทย