กรุงเทพฯ 19 ส.ค.- AIS เปิดผลดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย Thailand Cyber Wellness Index 2024 ชี้คนไทยเกินครึ่งขาดทักษะความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พร้อมเปิดตัวเครื่องมือเช็กภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ Digital Health Check ครั้งแรกในไทย
นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และงานธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS เปิดเผยผลดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย หรือ Thailand Cyber Wellness Index 2024 ว่าในปีนี้ได้สำรวจกลุ่มตัวอย่าง 50,965 คน จาก 7 ภูมิภาค 77 จังหวัด โดยใช้เกณฑ์วัด 7 ทักษะดิจิทัลที่ครอบคลุมพฤติกรรมการใช้งานดิจิทัลของคนไทย ประกอบด้วย ทักษะการใช้ดิจิทัล ทักษะการรู้เท่าทันดิจิทัล ทักษะด้านการสื่อสารและการทำงานร่วมกันบนดิจิทัล ทักษะด้านสิทธิทางดิจิทัล ทักษะด้านความมั่นคงความปลอดภัยทางไซเบอร์ ทักษะด้านการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ และทักษะด้านความสัมพันธ์ทางดิจิทัล โดยแบ่งความสามารถในการใช้งานดิจิทัลของคนไทยในแต่ละช่วงอายุและแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศที่ปรากฏในดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล เป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับสูง, ระดับพื้นฐานและ ระดับต้องพัฒนา
จากผลการศึกษาพบว่า ภาพรวมของคนไทยมีสุขภาวะทางดิจิทัลอยู่ในระดับพื้นฐาน 0.68 ในขณะเดียวกันร้อยละ 18.47 อยู่ในระดับที่ต้องพัฒนา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้ดิจิทัลให้กับประชาชนเพิ่มขึ้น เนื่องจากระดับต้องพัฒนา เป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการใช้ดิจิทัลได้อย่างไม่เหมาะสม โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก 10-12 ปี , 13-15 ปี และผู้สูงอายุ (อายุมากกว่า 60 ปี)
ส่วนผู้ที่มีอาชีพพนักงานของรัฐมีระดับดัชนีชี้วัดสุขภาวะทางดิจิทัลในภาพรวมสูงที่สุด 0.78 รองลงมาคือ อาชีพรับราชการ (0.67) นักเรียน/นักศึกษา (0.59) และข้าราชการบำนาญ (0.47) โดยอยู่ในระดับพื้นฐาน ส่วนผู้ที่ว่างงาน (0.42) พนักงานบริษัทเอกชน (0.41) ค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว (0.38) รับจ้างทั่วไป (0.33) รัฐวิสาหกิจ (0.31) และเกษตรกร (0.24) อยู่ในระดับต้องพัฒนา
ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับผลการศึกษากับปีที่แล้วสะท้อนให้เห็นว่า แม้คนไทยจะมีการพัฒนาความเข้าใจในการใช้งานบนโลกดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นจนผลในภาพรวมอยู่ในระดับพื้นฐาน แต่ยังมีจุดที่น่ากังวล เพราะคนไทยเกินครึ่งยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ โดยเฉพาะในประเด็นที่มีความเสี่ยงต่อภัยที่อาจนำมาซึ่งความเสียหายต่อการใช้งานของตนเองและองค์กร อาทิ การไม่มีความรู้ความเข้าใจการถูกโจมตีด้วยแรนซัมแวร์, การใช้ Wi-Fi สาธารณะในการทำธุรกรรมทางการเงิน, การใช้ วันเดือนปีเกิด มาตั้งเป็นรหัสผ่านซึ่งง่ายต่อการคาดเดา แม้แต่การไม่ทราบว่าการเข้าเว็บไซต์ที่ปลอดภัยลิงค์ URL ควรจะเป็น HTTPS เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เพื่อติดอาวุธและสร้างความมั่นคงทางไซเบอร์ให้กับคนไทย AIS ได้พัฒนาเครื่องมือ“Digital Health Check” เพื่อให้คนไทยสามารถวิเคราะห์และประเมินทักษะด้านดิจิทัลของตนเอง สมัครใช้งาน AIS Secure Net ได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย เพียงกด 6896# รวมถึงการเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าด้วย บริการ Secure Net+ Protected by MSIG ชูจุดเด่นปกป้องภัยคุกคามทางไซเบอร์ ไม่ว่าจะเป็นไวรัส มัลแวร์ เว็บไซต์ปลอมหลอกลวง พร้อมแถมประกันภัยเพอร์ซัลนัลไซเบอร์ จาก MSIG ที่มอบความคุ้มครอง อาทิ การโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคล และโจรกรรมเงิน หรือการถูกหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ ทางออนไลน์ ด้วยวงเงินคุ้มครองสูงสุด 50,000 บาท เพื่อให้ลูกค้าสามารถใช้งานออนไลน์ในโลกไซเบอร์ได้อย่างมั่นใจ ในราคาสุดคุ้มเดือนละ 39 บาทเท่านั้น สมัครง่ายๆ เพียงกด 68910# กดโทรออก .-516-สำนักข่าวไทย