ทำเนียบฯ 30 ก.ค. – ครม.หนุนแก้ไข “จ่ายเงินสินบน-รางวัล” เจ้าหน้าที่ศุลกากรระดมความเห็นหลายหน่วยงาน ป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน หัวหน้าหน่วยงาน
นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบข้อเสนอแนะหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายเงินสินบนและรางวัลให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอ เช่น 1.ให้กระทรวงการคลังศึกษาวิจัยความจำเป็นในการให้เงินรางวัลเพื่อตอบแทนการปฎิบัติหน้าที่และความเป็นไปได้ ในการกำหนดค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐในปัจจุบันให้เหมาะสมกับลักษณะการปฎิบัติหน้าที่ แทนระบบการจ่ายรางวัลจากเงินค่าปรับที่ได้รับ
- พิจารณาปรับปรุงบัญชีอัตราส่วนแบ่งเงินรางวัลให้เหมาะสม สะท้อนการมีส่วนร่วมและผลการปฎิบัติงานมากกว่าระดับตำแหน่งเพื่อป้องกันการมีผลประโยชน์ทับซ้อนและลดการใช้ดุลยพินิจโดยหัวหน้าส่วนราชการ 3.ให้กรมศุลกากรจัดทำ “ฐานข้อมูลกลาง” เกี่ยวกับการจ่ายเงินสินบนและรางวัลในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างเป็นระบบ จัดทำข้อมูลเชื่อมโยงถึงที่มาที่ไปของรายการการกระทำความผิด รายการทรัพย์สินที่นำไปสู่การจ่ายเงินสินบนและรางวัล
มอบหมายให้กระทรวงการคลัง กรมศุลกากร หารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงาน ปปง., สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, สำนักงาน ป.ป.ช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ได้ข้อยุติ เพื่อสรุปผลการหารือ ส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา
ผู้สื่อข่าว รายงานว่ากรมศุลกากร ได้รวบรวมข้อมูลย้อนหลังช่วง 10 ปี (ตั้งแต่ 2554-2563 เพื่อจัดส่งให้สำนักงาน ป.ป.ช.พบว่าสถิติการจ่ายเงินสินบนและรางวัลของกรมศุลกากร ทั้งสิ้น 8,679 ล้านบาท โดยจ่ายเงินสินบนและรางวัลประมาณ 846-1,226 ล้านบาท ในช่วงปี 2554-2561 ได้ปรับลดลงมาเหลือ 266-375 ล้านบาท ในช่วงปี 2562-2563
การจัดสรรการจ่ายเงินสินบนและรางวัลให้กับเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร เป็นไปตามระเบียบกรมศุลกากรว่าด้วยการจ่ายเงินสินบน และรางวัล 2560 โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรก คือ 1 ใน 3 ของเงินรางวัลจ่ายแก่ผู้ตรวจพบการกระทำความผิดในกรณีที่มีหลายคนให้ได้รับคนละเท่ากัน โดยเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรที่สิทธิ์ได้รับการจัดสรรเงินในส่วนนี้ ให้รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับอธิบดีด้วย
ส่วนที่สอง คือ 2 ใน 3 ของเงินรางวัลจ่ายให้แก่ ผู้ตรวจพบการกระทำความผิด หรือผู้ร่วมจับกุมหรือร่วมดำเนินการภายหลังการจับกุมอันเป็นประโยชน์ช่วยให้การจับกุมเป็นผลสำเร็จและบุคคลอื่นที่ได้ช่วยเหลือให้การจับกุมหรือการตรวจพบการกระทำความผิดเป็นผลสำเร็จ อย่างไรก็ดี มีการกำหนดให้ระดับอธิบดี มีสิทธิ์ได้รับการจัดสรรฯส่วนแบ่งมากที่สุด 13 ส่วน รองลงมาเป็นระดับรองอธิบดีมีสิทธิ์ได้รับจัดสรรฯ คนละ 11 ส่วน
ระดับผู้อำนวยการสำนัก มีสิทธิ์ได้รับจัดสรรฯ คนละ 10 ส่วน ,ระดับนายด่านศุลกากร มีสิทธิ์ได้รับจัดสรร คนละ 10 ส่วน ,ระดับผู้ทรงคุณวุฒิ มีสิทธิ์ได้รับจัดสรร คนละ 12 ส่วน ,ระดับผู้เชี่ยวชาญ มีสิทธิ์ได้รับจัดสรร คนละ 10 ส่วน เป็นต้น ในขณะที่ระดับปฏิบัติการ มีสิทธิ์ได้รับจัดสรร คนละ 7 ส่วน ยกเว้นระดับปฏิบัติการที่รับราชการแรกบรรจุ-4 ปี สิทธิ์ได้รับจัดสรร คนละ 6 ส่วน.-515- สำนักข่าวไทย