อาคาร สผ.30 ส.ค.-กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กฟผ. ยืนยันโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ทำรายงาน วิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพตามขั้นตอนกฎหมาย
นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นางรวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และนายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการพลังงานหมุนเวียนและพลังงานใหม่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และโฆษก กฟผ. ร่วมแถลงข่าวชี้แจงกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ซึ่งรายงาน วิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(EHIA)ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) แล้ว แต่มีกลุ่มเครือข่ายบางส่วนแสดงความวิตกกังวล เช่น เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเรียกร้องให้ระงับรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เนื่องจากมีปัญหาหลายประการ
นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการพลังงานหมุนเวียนและพลังงานใหม่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะโฆษก กฟผ.ยืนยันว่า กระบวนการศึกษาและจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ได้เปิดให้ประชาชนทั่วไป และผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนทั้งในจังหวัดสงขลา และจังหวัดใกล้เคียง มีส่วนในกระบวนการจัดทำEHIA ตั้งแต่ต้น พร้อมจัดเวทีให้แสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางมีการรับฟังความคิดเห็นอย่างโปร่งใส ทั้งจากผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยพร้อมรับทุกข้อห่วงกังวลมาปรับปรุง เพื่อพัฒนาโครงการร่วมกันข้อคิดเห็นและข้อวิตกกังวลทุกประเด็นได้ถูกบันทึก รวบรวมเป็นมาตรการเพื่อลดความวิตกกังวลและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยใช้เวลาในการศึกษาและจัดทำรายงานประมาณ 1 ปี ยืนยันการออกแบบโรงไฟฟ้าเทพา ได้เลือกใช้เทค โนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งจะปล่อยมลพิษจากปล่องโรงไฟฟ้า ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานทุกตัว โดยเฉพาะโลหะหนัก 4 ชนิด คือสารหนู แคดเมี่ยม สารปรอท และสารตะกั่ว
ส่วนข้อกังวลว่าจะมีการย้ายมัสยิด กุโบร์ และวัด ยืนยันไม่มีการโยกย้ายเพราะไม่อยู่ในพื้นที่ก่อสร้าง แต่จะช่วยปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงามและสามารถเข้าประกอบพิธีทางศาสนาได้ตามปกติ จะมีการย้ายเฉพาะโรง เรียนมูลนิธิอิตีขอมวิทยา ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากกรรมการโรงเรียนและพร้อมย้ายไปที่ใหม่แล้ว ส่วนพื้นที่ชุมชนประมาณ 3,000ไร่ ที่จะใช้เป็นพื้นที่ในการก่อสร้างโครงการ กฟผ.จะเจรจาขอซื้อที่ในราคาที่เป็นธรรม
นางรวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรม ชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ชี้แจงว่า โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเป็นโครงการตามแผน พัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยปี พ.ศ. 2558 -2579 ที่ครม.เห็นชอบให้ดำเนินการ เพื่อแก้ปัญหาความไม่มั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาคใต้ ที่ปัจจุบันยังต้องพึ่งพาการส่งไฟฟ้าจากภาคกลาง โดยคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ประกอบด้วยนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญจากทุกด้านได้พิจารณารายงานEHIA ของโครงการนี้ รวม 6 ครั้ง ใช้เวลาประมาณ 1 ปี 10 เดือน พิจารณาอย่างรอบคอบ โดยนำประเด็นการคัดค้านโครงการฯ มาพิจารณาด้วย และมีมติเห็นว่ารายงานมีข้อมูลครบถ้วนเพียงพอสำหรับ การพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อประกอบการ พิจารณาของคณะรัฐมนตรีในการอนุมัติโครงการตามขั้นตอนต่อไป ยืนยันคชก.ให้ความเห็นเป็นไปตามหลักวิชาการ ไม่ใช่การอนุมัติโครงการ การพิจารณาอนุมัติโครงการเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรีเท่านั้น เลขาธิการ สผ. กล่าวว่า ทุกโครงการของการพัฒนาจะต้องเกิดผลกระทบด้านสิ่งแวด ล้อมมากน้อยต่างกันไป แต่ได้มีการออกมาตรการในการลดผลกระทบและป้องกันให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย ซึ่งตามแผนโครงการนี้ มีการกำหนดแผนที่รัดกุมทุกขั้นตอน คือ มีแผนการควบคุมการเกิดมล พิษตั้งแต่ต้นทาง คือการควบคุมคุณภาพของถ่านหินที่จะใช้เป็นวัตถุดิบของการผลิตกระแสไฟฟ้า ในขั้นตอนการผลิตจะติดตั้งอุปกรณดักจับโลหะหนักและสารมลพิษทุกตัว ซึ่งเป็นการลงทุนเพิ่มในราคาที่สูงมาก เช่น ACI เป็นเทคโนโลยีในการดักจับสารปรอท ค่าอุปกรณ์ประมาณ 1,000 ล้านบาทและค่าบำรุงรักษาตลอดโครงการประมาณ 9,000 ล้านบาท รัฐต้องลงทุนเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและต่อประชาชน รวมทั้งติด ตั้งอุปกรณ์และสร้างระบบการติดตามคุณภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมที่ประชาชนสามารถติดตามได้ตามเวลาจริงในพื้นที่จริง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่ด้วย
นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การพิจารณาของคณะกรรมการได้ทำอย่างรอบคอบและพิจารณาจากข้อมูลรอบด้าน ที่สำคัญได้มีการใช้บทเรียนจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปางมาใช้ในการพิจารณาด้วย.-สำนักข่าวไทย