กรุงเทพฯ 25 เม.ย.- สทนช. เตือนเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงและน้ำเค็มรุกล้ำแม่น้ำ ช่วงวันที่ 25 – 30 เม.ย. 67 ส่วนปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำในจ. ฉะเชิงเทราและสมุทรปราการ เร่งสูบระบายน้ำที่ค่าความเค็มเกินมาตรฐานออกทะเลและรับน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์และแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำสำหรับเจือจางและไล่น้ำเค็ม
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.)กล่าวว่า เร่งคลี่คลายสถานการณ์น้ำเค็มรุกล้ำเข้าสู่คลองประเวศบุรีรมย์และคลองสาขา ตามที่เกิดเหตุการณ์ทำนบดินชั่วคราวปิดกั้นคลองประเวศบุรีรมย์พังทลาย ส่งผลกระทบให้น้ำเค็มรุกล้ำเข้ามา โดยเฉพาะใน อ. เมืองฉะเชิงเทรา อ. บ้านโพธิ์ อ. บางปะกง จ. ฉะเชิงเทรา และอ. บางบ่อ จ. สมุทรปราการ โดยสทนช. จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการจัดการทรัพยากรน้ำชั่วคราวในภาวะวิกฤติ ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระองค์ไชยานุชิต จ. ฉะเชิงเทรา เพื่อบูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อเร่งสูบระบายน้ำที่ค่าความเค็มเกินมาตรฐานออกทะเลและรับน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์และแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำสำหรับเจือจางและไล่น้ำเค็ม
นอกจากนี้ยังมีการใช้จุลินทรีย์จากธรรมชาติหรือ EM เพื่อบำบัดคุณภาพน้ำลดค่าความเค็มตามที่กรมประมงได้จัดทำแผนที่แสดงค่าความเค็มที่เหมาะสมในแต่ละคลอง สำหรับให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาและสัตว์น้ำสามารถสูบน้ำไปใช้ได้อย่างปลอดภัย ขณะนี้คุณภาพน้ำในแต่ละพื้นที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับค่าความเค็มที่ตรวจวัดเมื่อวันที่ 12 เม.ย. 67 โดยบริเวณคลองเปร็งจากเดิม 19.63 กรัมต่อลิตร เหลือเพียง 0.88 กรัมต่อลิตร คลองประเวศบุรีรมย์จาก 28.04 กรัมต่อลิตร เหลือ 6.51 กรัมต่อลิตร คลองชวดพร้าวจาก 14.40 กรัมต่อลิตร เหลือ 2.55 กรัมต่อลิตร โดยเหลือเพียงบริเวณคลองพระยานาคราช 1 และ 2 และคลองพระยาสมุทรที่ยังมีค่าความเค็มสูง จากการดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเต็มประสิทธิภาพ คาดว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติภายในสัปดาห์นี้
สำหรับการตรวจสอบคุณภาพน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคที่แม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีสูบน้ำสำแล อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน น้ำเพื่อการเกษตรที่แม่น้ำท่าจีน ณ สถานีประตูระบายน้ำปากคลองจินดาอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานแม่น้ำแม่กลอง ณ สถานีอัมพวาอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แม่น้ำบางปะกง ณ สถานีวัดบางคางอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
สทนช. ออกประกาศแจ้งเตือนเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงและน้ำเค็มรุกล้ำแม่น้ำ ช่วงวันที่ 25 – 30 เม.ย. 67 โดยให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมบริเวณชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและไม่มีแนวคันกั้นน้ำ (แนวฟันหลอ) ในพื้นที่ จ. สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม นนทบุรี กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ ส่วนการเฝ้าระวังน้ำเค็มรุกล้ำส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และการเกษตร ให้เฝ้าระวังบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา แม่กลอง ท่าจีน และบางปะกง
นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า ปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำในจ. ฉะเชิงเทราและสมุทรปราการดีขึ้นตามลำดับ โดยเปิดรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านคลองเปรมประชากรและประตูระบายน้ำบึงฝรั่ง เพื่อเจือจางค่าความเค็ม พร้อมบูรณาการร่วมกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจ. สมุทรปราการ v. บางบ่อ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำคันดินชั่วคราว พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณต. บางพลีน้อย 2 จุดและต. บ้านระกาศ 2 จุด เร่งสูบระบายน้ำเค็มออกจากพื้นที่แอ่งกระทะและสูบจากคลองพระยานาคราชลงสู่คลองบางพลีน้อย ก่อนที่จะผลักดันน้ำออกสู่ทะเลผ่านประตูระบายน้ำนางหงส์และสถานีสูบน้ำพระยาวิสูตร
ขณะเดียวกันสูบน้ำในคลองสาขาต่างๆ ผ่านสถานีสูบน้ำชลหารพิจิตรและคลองด่าน เมื่อน้ำจากทางตอนบนไหลลงมา เพื่อผลักดันน้ำเค็มให้ไหลลงสู่ทะเลได้เร็วยิ่งขึ้น จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ
นอกจากนี้ยังเร่งเติมน้ำเข้าสู่คลองระพีพัฒน์เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร อ. หนองเสือ จ. ปทุมธานี หลังจากที่น้ำส่วนหนึ่งถูกลำเลียงจากพื้นที่ตอนบนลงมาช่วยผลักดันน้ำเค็มในคลองประเวศบุรีรมย์ จ. ฉะเชิงเทรา เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศที่ได้รับความเสียหายจากน้ำเค็มอย่างเร่งด่วน ประกอบกับสภาพอากาศในปัจจุบันค่อนข้างร้อนและอยู่ในช่วงปลายฤดูแล้ง ทำให้มีการใช้น้ำในคลองส่งน้ำมากกว่าปกติ ทำให้ระดับน้ำในคลองที่อ. หนองเสือลดลงอย่างรวดเร็ว
ปัจจุบันปริมาณน้ำบางส่วนจากทางตอนบนได้ไหลลงมาถึงพื้นที่ตอนล่างแล้ว เพื่อทดแทนน้ำที่ระบายออกไปก่อนหน้านี้ ทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตเหนือจึงปรับเพิ่มปริมาณน้ำลงสู่คลองระพีพัฒน์แยกตกเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและผู้ใช้น้ำในภาพรวม ส่งผลให้ระดับน้ำในคลองเพิ่มสูงขึ้น กระจายน้ำเข้าไปยังคลองชลประทานที่เชื่อมต่อกับคลองหลักได้แล้ว พร้อมกับจัดรอบเวรการสูบน้ำเพื่อให้ได้รับน้ำอย่างทั่วถึง
นอกจากนี้ยังวางแผนติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณปากคลองเพิ่มเติม เพื่อให้พื้นที่ด้านท้ายคลองได้รับน้ำอย่างทั่วถึงด้วย จึงขอให้มั่นใจว่า เส้นทางที่น้ำไหลผ่านจะไม่ได้รับผลกระทบต่อการใช้น้ำในพื้นที่
สำหรับภาวะน้ำทะเลหนุนสูงช่วงวันที่ 25 – 30 เม.ย. นี้ จะไม่กระทบต่อการแก้ปัญหาค่าความเค็มที่จ. ฉะเชิงเทราและสมุทรปราการเนื่องจากทำทำนบปิดกั้นและปิดประตูระบายน้ำ ไม่ให้น้ำเค็มเอ่อท้นเข้ามาใหม่ ขณะเดียวกันเร่งสูงน้ำในพื้นที่ออกและเร่งผลักดันสู่ทะเล. 512 – สำนักข่าวไทย