ฉะเชิงเทรา 22 เม.ย. – กรมชลประทาน ปรับเพิ่มการระบายน้ำสำหรับเจือจางค่าความเค็มในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราและสมุทรปราการ ล่าสุดพิจารณารับจัดสรรน้ำจากเขื่อนขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก เพื่อไล่น้ำเค็ม พร้อมส่งน้ำอุปโภคบริโภคช่วยเหลือประชาชนต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า ได้ปรับแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำเค็มจังหวัดฉะเชิงเทราและสมุทรปราการเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ได้ระดมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 26 เครื่องเพื่อสูบน้ำที่มีค่าความเค็มเกินมาตรฐานเพื่อผลักดันออกทะเล พร้อมได้ส่งเรือนวัตกรรมกำจัดวัชพืช 7 ลำเข้าไปกำจัดวัชพืชเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและรักษาคุณภาพน้ำไม่ให้เน่าเสีย ตลอดจนส่งน้ำอุปโภคบริโภคช่วยเหลือประชาชน 2,320 ครัวเรือนใน 9 หมู่บ้าน รวมปริมาณน้ำที่จัดส่งทั้งสิ้น 990,000 ลิตร
สำหรับแนวทางเพิ่มปริมาณน้ำสำหรับไล่น้ำเค็มเพื่อให้สถานการณ์กลับมาสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุดได้แก่
• เพิ่มน้ำผ่านประตูน้ำพระนารายณ์ ประตูน้ำรังสิต ประตูน้ำพระยาสุเรนทร์ ประตูน้ำลาดกระบังเพื่อเร่งผลักดันน้ำจากตอนบนมาช่วยสนับสนุนผลักดันน้ำเค็ม
• รับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่คลองเปรมประชากรและสูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ประตูระบายน้ำ (ปตร.) จุฬาลงกรณ์มาสู่คลองรังสิตและเข้าสู่คลอง 3 คลอง 4 และมาผ่านคลองหกวา
• เพิ่มน้ำจากแม่น้ำนครนายกผ่านคลอง 23 25 29 และคลองอื่นๆ โดยพิจารณาเพิ่มปริมาณน้ำจัดสรรจากเขื่อนขุนด่านปราการชล
• เพิ่มปริมาณสูบน้ำจากด้านตะวันตกของประตูกลางคลองประเวศบุรีรมย์ เข้าคลองประเวศบุรีรมย์เพื่อเร่งเจือจางน้ำในคลองชวดพร้าวและคลองสาขาอื่นๆ
• ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อเร่งผลักดันน้ำ 5 จุดได้แก่คลองแขวงกลั่น คลองเปร็ง ปตร. สุคันธาวาส ปตร. กาหลง และปตร. ชวดพร้าว
ทั้งนี้สทนช. กำชับหน่วยงานให้การส่งน้ำเป็นไปตามแผนมากที่สุดและต้องสูญเสียน้ำระหว่างทางให้น้อยที่สุดเพื่อใช้ทรัพยากรน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในช่วงที่ยังอยู่ในฤดูแล้งและขณะนี้มีน้ำคงเหลือในแต่ละอ่างในปริมาณที่น้อยอยู่แล้ว
สทนช. ได้ขอให้จังหวัดฉะเชิงเทรา กรมชลประทาน และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ระดมกำลังเร่งเก็บซากผักตบชวาที่เน่าเสียในคลอง พร้อมไปกับการเร่งสูบและผลักดันน้ำเค็มออกสู่คลองชายทะเลอีกด้วย
จากผลดำเนินการส่งผลให้ค่าความเค็มมีแนวโน้มลดลง กรมควบคุมมลพิษตรวจวัดคุณภาพน้ำพบว่า ค่าความเค็มอยู่ในเกณฑ์ปกติแล้ว 3 จุดได้แก่ บริเวณปากคลองเจ้าศาลาแดงมีค่าความเค็ม 0.16 กรัมต่อลิตร คลองพระองค์ไชยยานุชิตตัดคลองแสนแสบมีค่าความเค็ม 0.13 กรัมต่อลิตร และสี่แยกคลองพระองค์ไชยยานุชิตตัดคลองประเวศบุรีรมย์มีค่าความเค็ม 0.85 กรัมต่อลิตร โดยค่าออกซิเจนละลายน้ำ (DO) เพิ่มขึ้นด้วย แต่ยังคงมีจุดที่ค่าความเค็มสูงอีกสองแห่ง ได้แก่ คลองพระยาสมุทรและคลองพระยานาคราชซึ่งทุกหน่วยงานจะเร่งแก้ไขโดยเร็ว
สำหรับการเข้าช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ มีหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ กรมชลประทาน การประปาส่วนภูมิภาค ปภ. นำรถบรรทุกน้ำจืดแจกจ่ายให้ประชาชนรวมกว่า 1 ล้านลิตร ส่งผลให้ประชาชนทั้ง 4 อำเภอใน 2 จังหวัดไม่ได้รับผลกระทบด้านน้ำอุปโภคบริโภค
ส่วนด้านเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้แก่ ปลากะพง ปลาสลิด กุ้งขาว ได้ขอให้กรมประมงเร่งทำแผนกำหนดคุณภาพน้ำให้เหมาะสมกับการประมงในแต่ละคลองเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาปล่อยน้ำจืดเพื่อเจือจางค่าความเค็ม แล้วให้เกษตรกรนำไปใช้ได้อย่างเหมาะสม ปลอดภัย
ทั้งนี้สำนักงานเกษตรอำเภอสนับสนุนฟางก้อนเพื่อคลุมโคนต้นพืชเพื่อลดการสูญเสียความชื้นจากหน้าดินร่วมกับการสนับสนุนน้ำจืดให้เกษตรกรเพื่อใช้ในภาคการเกษตร โดยนาข้าวในพื้นที่ส่วนใหญ่เก็บเกี่ยวแล้วจึงไม่มีพื้นที่นาได้รับความเสียหาย กรมพัฒนาที่ดินให้คำแนะนำแก่หน่วยงานและเกษตรกรให้ช่วยกันเก็บซากพืชและสัตว์ที่เน่าเสียในน้ำเพื่อลดมลพิษทางน้ำและได้นำสารเร่งซุปเปอร์ พด.6 เข้าบำบัดน้ำเสียวันละ 10,000 ลิตรด้วยอีกทางหนึ่ง
สทนช. คาดว่า สภาพน้ำจะกลับคืนสู่ภาวะปกติภายใน 30 วัน ในระยะถัดไปจะยังติดตามประสานงานเฝ้าระวังคุณภาพน้ำในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงต้นฤดูฝนที่เกษตรกรจะเริ่มทำนา ที่สำคัญจะฟื้นฟูคุณภาพน้ำให้เหมาะสมก่อนนำน้ำในคลองไปใช้เตรียมแปลง เพื่อเป็นการป้องกันผลผลิตเสียหาย.- 512 – สำนักข่าวไทย