“สปอโรทริโคสิส” โรคจากเชื้อราพบในแมว มีการพบในคนมากขึ้น อันตรายต่อคนหรือไม่ รักษาได้อย่างไร
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ พ.ต.ต.หญิง รศ.พญ.เพ็ญวดี พัฒนปรีชากุล อาจารย์ประจำภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
สปอโรทริโคสิส (Sporotrichosis) เป็นโรคเชื้อราที่ทำให้เกิดบาดแผลที่ผิวหนัง เชื้อราชนิดนี้จริง ๆ ก็เป็นเชื้อราตามธรรมชาติ อยู่ตามพื้นดิน ตามต้นไม้ต่าง ๆ
โรคเชื้อราสปอโรทริโคสิส ในต่างประเทศมีการตั้งชื่อว่า Rose gardener’s disease เป็นเชื้อราที่มีข้อมูลว่าคนทำสวนถูกหนามบาด หนามทิ่ม แล้วก็เกิดโรคนี้ขึ้นมา
ในประเทศไทย “โรคเชื้อราสปอโรทริโคสิส” พบได้บ่อยในแมว ?
สำหรับประเทศไทย โรคเชื้อราสปอโรทริโคสิสพบได้น้อยในคน
ข้อมูลจากสัตวแพทย์พบว่ามีสัตว์เลี้ยงติดเชื้อราสปอโรทริโคสิสทุกวัน โดยเฉพาะแมว ถือว่าโรคเชื้อราสปอโรทริโคสิสเป็นโรคประจำของหมาแมวก็ได้
มีแนวโน้มพบ “โรคเชื้อราสปอโรทริโคสิส” ในคนมากขึ้น ?
ข้อมูลของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ย้อนหลัง 15 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2548 มี 10 ราย แสดงว่าที่ผ่านมา 1-2 ปี พบ 1 ราย
ปัจจุบันพบมากขึ้นแต่ไม่มาก ประมาณ 10 ราย (ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2563 จนถึงปัจจุบัน) เกิดความสงสัยว่าเป็น “โรคอุบัติใหม่” หรือไม่
จากการตรวจสอบข้อมูลผู้ป่วย 6 ราย มีประวัติเลี้ยงแมวและส่วนใหญ่สัมผัสแมว แต่มี 3 รายเป็นผู้ช่วยสัตวแพทย์ที่ต้องช่วยจับน้องแมวเวลามาตรวจ
ประเด็นการพบโรคเชื้อราสปอโรทริโคสิสในช่วง 1-2 ปีนี้ อาจเกิดจากการสัมผัสสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้น
อาการของโรคเชื้อราสปอโรทริโคสิสในคนเป็นอย่างไรบ้าง ?
ผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยแผลเรื้อรังที่ผิวหนัง แผลมีหลายรูปแบบ บริเวณแขนหรือขา แต่บางรายพบแผลลักษณะเรียงเป็นแนวยาวตามทางเดินของท่อน้ำเหลือง
แผลลุกลามไปเรื่อย ๆ แต่เพราะผู้ป่วยไม่ค่อยมีอาการเจ็บอะไร มีบางรายบอกว่าคันด้วยซ้ำ เพาะเชื้อแล้วทราบว่าเป็นโรคนี้ สามารถรักษาหายได้
การรักษาหลัก ๆ คือกินยาต้านเชื้อราเป็นระยะเวลานานหลายเดือน (อย่างน้อย 3 เดือนขึ้นไป) จนกว่าแผลจะหาย แต่เนื่องจากเป็นยาต้านเชื้อราชนิดกิน อาจจะมีผลข้างเคียง ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างต่อเนื่อง และไม่แนะนำให้ซื้อยากลุ่มเชื้อรามากินเอง
ถ้ามีภูมิคุ้มกันบกพร่องอยู่ แล้วติดเชื้อนี้เข้าทางบาดแผลตามผิวหนัง เชื้ออาจลุกลาม เช่น ลุกลามลึกขึ้น เป็นแผลที่เข้าสู่กระดูกหรือข้อบริเวณนั้น เกิดการอักเสบของข้อ
มีรายงานการติดเชื้อแบบแพร่กระจาย ก็จะมีการกระจายของเชื้อไปที่ปอด และ/หรือ เยื่อหุ้มสมองได้ด้วย แต่จะเกิดในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องอยู่แล้ว
ผู้ที่เลี้ยงแมว หรือต้องสัมผัสแมว ควรสังเกตลักษณะของแมว และมีความระมัดระวัง ?
โรคเชื้อราสปอโรทริโคสิสก่อโรคในแมว จะมาด้วยแผลเรื้อรังเช่นกัน โดยระยะแรกจะเป็นแผลเล็ก ๆ ก่อน แล้วลุกลามไป ถ้าเป็นแมวเลี้ยง เจ้าของจะสังเกตได้ง่าย
ปัญหาที่สำคัญคือส่วนใหญ่พบในแมวจรจัด ดังนั้น เมื่อเห็นแมวจรจัดที่มีบาดแผล หรือมีน้ำเหลือง น้ำหนองเปื้อนทั่วตัว สามารถช่วยเหลือได้ แต่แนะนำให้ใส่ถุงมือทุกครั้งเพื่อป้องกันเชื้อโรคในขณะสัมผัส
มีแผลเรื้อรัง รักษาไม่หาย ควรไปพบแพทย์ ?
ใครก็ตาม ถ้ามีแผลเรื้อรังชนิดนี้ พยายามรักษาด้วยการซื้อยาปฏิชีวนะมาทาแล้ว ทำแผลแล้วก็ยังไม่ดีขึ้น แนะนำให้ไปพบแพทย์ผิวหนัง เพราะว่าการที่แพทย์นำเลือด น้ำหนอง น้ำเหลืองที่อยู่บริเวณแผล หรือแม้กระทั่งนำชิ้นเนื้อของแผลส่งตรวจเพาะเชื้อ จะทำให้ได้คำตอบ เพราะการวินิจฉัยไม่ยากเลย ดีกว่าการพยายามที่จะรักษาตัวเอง
“สปอโรทริโคสิส” โรคติดเชื้อราที่ผิวหนัง เป็นผิวหนังชั้นลึก จะไม่เหมือนกับกลากหรือเกลื้อน ถึงแม้ว่าแผลจะดูน่ากลัว แต่ก็ไม่ได้น่ากลัวและสามารถรักษาได้
ถ้าการวินิจฉัยพบตัวเชื้อราชนิดนี้ถูกต้อง แพทย์สามารถให้ยาต้านเชื้อรารักษาได้ตรงจุด
สัมภาษณ์โดย ณัฐวัฒน์ จิตรมั่น
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติมรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ FACTSHEET : ‘สปอโรทริโคสิส’ โรคในแมวที่ติดต่อสู่คน
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter