21 มี.ค. – ปัญหาโลกร้อนเป็นปัญหาใหญ่ที่เราสัมผัสได้มากขึ้นในทุกวันนี้ จากการที่อุณหภูมิของโลกร้อนขึ้นในทุกๆ ปี ดังที่เลขาธิการองค์การสหประชาชาติหรือยูเอ็น ได้กล่าวไว้เมื่อกลางปี 2566 ว่า เราหมดยุคโลกร้อน (Global Warming) และกำลังเข้าสู่ยุคโลกเดือด (Global Boiling) ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้วนี้ มีผลต่อความสุขและความอยู่ดีมีสุขของมนุษย์อย่างมาก
ในขณะที่โลกของเรากำลังเผชิญปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างหนักมากขึ้นในทุกๆ วัน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไปจนถึงการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ มีหลายการศึกษาที่แสดงความสัมพันธ์ของสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีหรือมีมลพิษต่อสุขภาพจิตและสุขภาพกายของมนุษย์ที่แย่ลง อีกนัยหนึ่ง สิ่งแวดล้อมที่ดีและการพัฒนาที่ยั่งยืนมีผลดีต่อความสุขและความอยู่ดีมีสุข
จาก World Happiness Report ในปี 2563 มีการศึกษาถึงความสัมพันธ์ของระดับการพัฒนาที่ยั่งยืนและความสุขโดยรวม (จากการประเมินตนเอง สำรวจโดย Gallup World Poll) ซึ่งพบว่ามีความสัมพันธ์กัน ประเทศที่มีระดับความสุขสูงกว่าจะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals- SDGs) โดยทั่วไปได้เร็วกว่าประเทศที่มีระดับความสุขต่ำ (ถึงแม้ว่าบางเป้าหมายของ SDGs ไม่ได้มีสัมพันธ์กับระดับความสุขในทางบวกก็ตาม) โดยภาพรวมระดับความสุขของประเทศและระดับของการพัฒนาอย่างยั่งยืนมีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกัน ซึ่งประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวียมีความสัมพันธ์ของความสุขกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับสูง
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าหลายการศึกษาสะท้อนว่าสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืนมีผลต่อความสุข ความสุขไม่ได้เป็นผลของจากการพัฒนาที่ยั่งยืนเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่จะส่งผลที่ทำให้การพัฒนาอย่างยืนสำเร็จได้ด้วย จากแนวคิดการพัฒนาความสุขภายในของมนุษย์ให้สูงขึ้นในระดับจิตและปัญญาตามแนวพุทธธรรม ความสุขประเภทนี้จะลดการพึ่งพิงปัจจัยจากภายนอกรวมทั้งการใช้ทรัพยากรลง อันเป็นความสุขที่ยั่งยืนกว่าความสุขจากปัจจัยภายนอกที่ไม่ยั่งยืน และความสุขที่ยั่งยืนนี้จะทำให้การพัฒนาอย่างยั่งยืนสัมฤทธิ์ผลได้ ดังแนวคิดของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตโต) ที่ได้เคยเขียนไว้ในหนังสือการพัฒนาที่ยั่งยืน (2549)
ดังนั้น ในขณะที่นานาประเทศมุ่งไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนตามวาระการพัฒนาของโลก การให้ความสำคัญกับเรื่องของความสุขของประชาชนก็สามารถนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้เช่นกัน จึงถึงเวลาแล้วที่ประทศไทยจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่เน้นในเรื่องของความสุขของประชาชน ความสุขที่มาจากความสมดุลของปัจจัยภายในและภายนอกเป็นองค์รวม ทั้งกาย จิต สิ่งแวดล้อม สังคม ซึ่งจะสอดคล้องกับเศรษฐศาสตร์ทางสายกลางที่มีการบริโภคและผลิตอย่างพอประมาณและรับผิดชอบ สร้างจิตสำนึกในการลดการใช้ทรัพยากรของโลกและลดมลพิษ อันเป็นสาเหตุของปัญหาโลกร้อนและโลกเดือดที่เราต้องเผชิญอยู่ในทุกวันนี้
ถึงแม้ว่าองค์กรระหว่างประเทศ ภาครัฐและเอกชนได้มีการเร่งใช้มาตรการต่างๆเพื่อเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ตามข้อตกลงของพันธะสัญญาระหว่างประเทศ แต่ในภาพรวมดูเหมือนว่ายังไม่สัมฤทธิ์ผลนัก จากข้อมูลของ Climate Watch Data ซึ่งได้รายงานเมื่อมีนาคม 2565 ได้สรุปข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับที่ 20 ของโลกและมีสัดส่วน 0.88% ของทั้งโลก และเป็นลำดับที่ 2 ของอาเซียนรองจากอินโดนีเซีย ทั้งนี้ การตั้งเป้าหมายในการเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของไทย (ในปี 2593)และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ( ในปี 2608) ก็ล่าช้ากว่าเป้าหมายของโลกไป 20ปี และ15 ปี ซึ่งก็จะมีผลเสียต่อการปรับตัวทางเศรษฐกิจไปสู่ทิศทางของความยั่งยืนที่ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากนานาชาติทั้งในการค้าระหว่างประเทศ การลงทุน และความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ อันจะส่งผลต่อความสุขของประชาชน จึงควรให้ความสำคัญกับเรื่องของสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างจริงจังและเร่งด่วน
ดังนั้น เนื่องในวันความสุขสากล 20 มีนาคม 2567 นี้ ทุกภาคส่วนจึงควรตระหนักในปัญหาและเร่งในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง การอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรอย่างมีความรับผิดชอบ ไม่เพียงแต่ทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น แต่มีส่วนสำคัญที่ทำให้ความสุขของมนุษย์มากขึ้นด้วย จึงควรส่งเสริมให้มีการใช้นวัตกรรมและเครื่องมือทางนโยบายใหม่ๆเพื่อขยายความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น สร้างจิตสำนึกในการลดการใช้และรักษาทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งพัฒนาความสุขภายในของมนุษย์ให้มากขึ้น อันจะส่งผลดีต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนยิ่งขึ้นไป. -115 สำนักข่าวไทย
รศ.ดร. เสาวลักษม์ กิตติประภัสร์
เครือข่ายงานวิจัยนานาชาติเพื่อสังคมอยู่เย็นเป็นสุข (ไอร่าห์)
International Research Associate for Happy Societies (IRAH)