กรุงเทพฯ 15 มี.ค. – อธิบดีกรมชลประทานเผย สถานการณ์เอลนีโญอ่อนกำลังลงและจะเข้าสู่ภาวะลานีญาเดือนก.ค. นี้ตามคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ระหว่างนี้ขอความร่วมมือเกษตรกรงดทำนาปรังรอบ 2 เพื่อสงวนน้ำไว้สำหรับฤดูกาลเพาะปลูกใหม่ โดยวางแผนบริหารจัดการให้มีน้ำเพียงพอทุกภาคส่วน
นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า ได้สั่งการโครงการชลประทานทั่วประเทศประชาสัมพันธ์เพื่อขอความร่วมมือเกษตรกรงดทำนาปรังรอบ 2 จากการสำรวจสถานการณ์การเพาะปลูกข้าวนาปรังทั้งประเทศในฤดูแล้งนี้ มีการทำนาปรังไปแล้วประมาณ 8.82 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 152 ของแผนเพาะปลูก เฉพาะลุ่มเจ้าพระยา ทำนาปรังไปแล้วประมาณ 5.68 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 188 ของแผนเพาะปลูก สำหรับพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังในลุ่มเจ้าพระยาเริ่มคงที่เนื่องจากปัจจุบันเกษตรกรได้เริ่มทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว จึงเร่งประชาสัมพันธ์ให้เว้นการเพาะปลูกไปก่อนเพื่อลดความเสียผลผลิตข้าวเสียหายจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอ
นอกจากนี้ยังได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่เร่งเข้าสำรวจพื้นที่ที่เก็บเกี่ยวแล้วเพื่อวางแผนปรับลดการรับน้ำเข้าพื้นที่โดยไม่กระทบต่อการรักษาระบบนิเวศซึ่งเป็นการประหยัดน้ำและสงวนไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ ตลอดจนสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง
นับตั้งแต่เข้าสู่ฤดูแล้งในวันที่ 1 พ.ย. 66 จนถึงขณะนี้ มีการจัดสรรน้ำช่วงฤดูแล้งปี 2566/67 ทั้งประเทศไปแล้ว 17,312 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 69% ของแผนการจัดสรรน้ำ เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 6,339 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 73% ของแผนการจัดสรรน้ำ
ปัจจุบัน (14 มี.ค. 67) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 48,795 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 64% ของความจุรวม เป็นน้ำใช้การได้ 24,854 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 47% ของความจุรวม เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา ใน 4 เขื่อนหลักได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำรวมประมาณ 13,446 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 54% ของความจุรวมกัน ปริมาณน้ำใช้การได้ 6,750 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 37% ของความจุรวม
อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาถึงปรากฎการณ์เอนโซพบว่า ขณะนี้สภาวะเอลนีโญซึ่งทำให้ฝนน้อย เริ่มอ่อนกำลังลง คาดว่า จะเข้าสู่สภาวะลานีญาประมาณเดือนกรกฎาคมจึงจะส่งผลให้ครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะช่วงปลายฤดูฝนมีปริมาณฝนตกมากกว่าค่าปกติจึงเชื่อว่า จะมีน้ำเพียงพอสำหรับภาคเกษตรกรรมและกิจกรรมอื่นๆ ทั้งหมด
พร้อมกันนี้ได้กำชับไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศ ให้ติดตามสภาพอากาศและการวิเคราะห์สถานการณ์ฝน เพื่อนำข้อมูลและสถิติฝนใกล้เคียง มาวางแผนการบริหารจัดการน้ำและมาตราการรับมือเชิงลุ่มน้ำและรายพื้นที่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และสามารถบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด โดยจะเน้นการเก็บกักน้ำทั้งในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำต่างๆ ไว้เป็นน้ำต้นทุนสำหรับไว้ใช้ในฤดูแล้งต่อไป.- 512 – สำนักข่าวไทย