เนื่องในโอกาสวันสตรีสากล ที่ถูกกำหนดให้มีขึ้นในวันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี สำหรับปีนี้ สภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย หรือ โอซีเอ ได้โพสต์ข้อความและรูปภาพผ่านเพจอย่างเป็นทางการของ โอซีเอ Olympic Council of Asia ยก 8 นักบริหารหญิงของโอซีเอ ที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่น ทั้งในและนอกสนาม ซึ่งหนึ่งในนั้น มี คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล กรรมการคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ ไอโอซีเมมเบอร์หญิงแกร่งของไทย ซึ่งทำหน้าที่เป็นกรรมการบริหารโอซีเอ รวมอยู่ด้วย
โอซีเอ ระบุว่า คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ทำลายกำแพงที่สูงใหญ่ กลายเป็นผู้หญิงไทยคนแรกที่ได้รับเลือกให้เข้าไปสู่ไอโอซี เธอเป็นผู้นำที่โดดเด่น เข้มแข็ง สามารถนำพากีฬา วัฒนธรรม จนเป็นที่ยอมรับของสมาชิกทั่วโลก ในฐานะไอโอซี เมมเบอร์ กรรมการบริหารโอซีเอ และ รองประธานสหพันธ์แบดมินตันโลก ซึ่งถือเป็นผู้กำหนดอนาคตในด้านกีฬาอย่างแท้จริง
ส่วนอีก 7 คน ที่โอซีเอ ยกย่อง ประกอบด้วย มิกาโกะ โคทานิ อดีตนักกีฬาระบำใต้น้ำหญิงทีมชาติญี่ปุ่นคนแรกที่ได้ถือธงชาติในพิธีเปิดโอลิมปิกเกมส์ 1988 ซึ่งเคยผ่านงานเป็นผู้อำนวยการด้านกีฬาของโอลิมปิก 2020 และ ปัจจุบันเป็นประธานคณะกรรมการนักกีฬาของโอซีเอ, ริตา ซูโบโว อดีตประธานโอลิมปิกอินโดนนีเซีย และนายกสหพันธ์วอลเลย์บอลอินโดนีเซีย, มิเคลลา อันโตเนีย จาวอร์สกี อดีตนักกีฬาขี่ม้าทีมชาติฟิลิปปินส์ ซึ่งมีบทบาทในฐานะไอโอซีเมมเบอร์เช่นเดียวกัน
เชกา ฮายัต บิน อับดุลลาซิซ ไอโอซีเมมเบอร์ และ โอซีเอ ซึ่งมีส่วนต่อการผลักดันความเท่าเทียมทางเพศ ทั้งนักกีฬา และในแง่จำนวนผู้บริหารหญิงในวงการกีฬา, หง จาง อดีตนักกีฬาสปีดสเกตทีมชาติจีน เหรียญทองโอลิมปิก และ ไอโอซีเมมเบอร์, ซามีรา อัสการี สตรีอัฟกานิสถานคนแรกที่ได้เป็นไอโอซีเมมเบอร์ และ เวเนร่า อับดุลลาห์ ชาวคีร์กิซสถาน ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาเรื่องการต่อต้านสารกระตุ้นในวงการกีฬา
ขณะเดียวกัน คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ยังได้รางวัลสตรีดีเด่นด้านศิลปะและวัฒนธรรม จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เนื่องในวันสตรีสากล 8 มีนาคม ประจำปี 2567 ซึ่งมอบให้โดย นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
นอกจากนี้ คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการด้านวัฒนธรรมของโอซีเอ กล่าวในการประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการฯ ผ่านระบบออนไลน์ล่าสุดว่า กีฬา กับ วัฒนธรรม มีความสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องกันเป็นอย่างดี โดยเนื้องานทั้ง 2 อย่างนี้ มีกิจกรรมต่อเนื่อง ตลอดปีที่แล้ว เช่น ในกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 ที่เมืองหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน มีการเปิดพิพิธภัณฑ์อย่างเป็นทางการในระหว่างการแข่งขัน “หางโจวเกมส์” ซึ่งถือเป็นแรงบันดาลใจให้กับทุกคนในอนาคต เป็นต้น “สำหรับเกมการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นในปี 2024 และปีต่อ ๆ ไป โอซีเอ ก็จะเดินหน้ากีฬา และวัฒนธรรม ควบคู่กันไป เหมือนเช่นเคย โดยจะมีกิจกรรมเกิดขึ้นในมหกรรมกีฬาที่สำคัญ เช่น เอเชียนอินดอร์และมาร์เชียลอาร์ตเกมส์ ครั้งที่ 6 ที่กรุงเทพฯ และจังหวัดชลบุรี ในเดือนพฤศจิกายนนี้ รวมถึง เอเชียนเกมส์ ฤดูหนาว ครั้งที่ 9 ที่เมืองฮาร์บิน สาธารณรัฐประชาชนจีน ปี 2025 และ เอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 20 ที่จังหวัดไอจิ และเมืองนาโกยา ประเทศญี่ปุ่น ปี 2026”
ส่วนการพูดคุยในที่ประชุมด้านอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เดิมที โอซีเอ วางแผนจะจัดประชุมใหญ่ ที่กรุงเดลี วันที่ 14 เมษายนนี้ แต่เนื่องจากเป็นช่วงเลือกตั้งทั่วไปของอินเดีย พอดี จึงมีการขยับไปจัดที่กรุงเทพฯ ในเดือนพฤษภาคมนี้ แทน
แผนงานฉลอง 110 ปี จุดเริ่มต้นของกีฬาเอเชียนเกมส์ ตามแนวคิด ONE Asia นั้น แต่เดิมจะจัดงานฉลอง ในเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 ที่เมืองหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ ทำให้ โอซีเอ กำหนดแผนใหม่ และงาน ONE Asia 110 ปี จะมาลงตัวในปีนี้ ในกีฬาเอเชียนอินดอร์และมาร์เชียลอาร์ตเกมส์ ครั้งที่ 6 ที่ประเทศไทย เดือนพฤศจิกายน
สำหรับ กีฬาเอเชียนเกมส์ มีจุดเริ่มต้นในปี 1913 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ มีการริเริ่มการแข่งขันกีฬาชิงชนะเลิศแห่งตะวันออกไกล หรือ ฟาร์ อีสเทิร์น เอเชียนเกมส์ ขึ้น และได้เชิญ จีน, ฮ่องกง, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, ไทย เข้าชิงชัยใน 8 ชนิดกีฬา คือ กรีฑา, เบสบอล, บาสเกตบอล, กระโดดน้ำ, ฟุตบอล, ว่ายน้ำ, เทนนิส และ วอลเลย์บอล และจัดต่อเนื่องมาถึง 11 ครั้ง ก่อนพัฒนาเป็นการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งแรก ในปี 1951 ที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย-614