กรุงเทพฯ 11 ก.พ. – อธิบดีกรมฝนหลวงเตรียมเข้าชี้แจงต่อกมธ. งบประมาณเกี่ยวกับการจัดซื้อเครื่องบิน 2 ลำในวันที่ 15 ก.พ. นี้ ตามที่กมธ. ออกหนังสือเชิญ โดยโครงการจัดซื้อเครื่องบินดังกล่าว ตั้งราคากลางไว้ที่ 1,180 ล้านบาทซึ่งมีการยื่นประกวดราคาไปเมื่อวันที่ 5 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยมีเพียงบริษัทเดียวยื่นประกวดราคา ผ่านไป 1 เดือนกว่า ยังไม่มีการประกาศว่า บริษัทนี้ได้รับคัดเลือกหรือไม่
คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณได้ส่งหนังสือเชิญนายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตรเข้าชี้แจงเกี่ยวกับโครงการจัดซื้อเครื่องบิน 2 ลำซึ่งนายศรีสุวรรณ จรรยาและนายยศวริศ ชูกล่อมมาร้องเรียนให้คณะกรรมาธิการฯ ตรวจสอบเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2566 โดยนายศรีสุวรรณและนายยศวริศตั้งข้อสังเกตว่า มีการล็อกสเปกให้เครื่องบินของผู้ผลิตเพียงรายเดียวเข้ายื่นประกวดราคาได้หรือไม่ อีกทั้งระบุว่า ส่อพิรุธทุจริต
นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตรตอบรับจะเข้าชี้แจงด้วยตัวเองวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567
สำหรับโครงการจัดซื้อเครื่องบิน 2 ลำดังกล่าว มีระยะเวลาดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 – 2570 วงเงินงบประมาณ 1,314,000,000 บาท กำหนดราคากลางที่ 1,188,770,000 บาท ในเดือนตุลาคม 2566 บริษัทที่เป็นตัวแทนของจำหน่ายเครื่องบินรายหนึ่งเชิญผู้บริหารของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรไปดูงานที่โรงงานผลิตเครื่องบินที่สาธารณรัฐเช็ก ต่อมากรมฝนหลวงฯ ออกประกาศเรื่อง ประกวดราคาซื้อเครื่องบินขนาดกลาง 2 ลำ ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 โดยมีการประกวดราคาเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2567 มีบริษัทยื่นเสนอราคาเพียง 1 ราย ขณะนี้ยังไม่มีการประกาศว่า บริษัทดังกล่าวได้รับคัดเลือกหรือไม่ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตรกล่าวก่อนหน้านี้ว่า อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาราคา
ทั้งนี้มีรายงานว่า รายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะและเงื่อนไขทางเทคนิคถูกปรับลดลงจากเดิม ทำให้ราคากลางในการจัดซื้อต่ำกว่า เครื่องบินขนาดกลางที่กรมฝนหลวงฯ ใช้ปฏิบัติงานมานานคือ Casa ผลิตซึ่งมี 16 ลำ ตัวแทนของผู้ผลิตเครื่องบิน Casa จึงไม่สามารถแข่งขันได้
เมื่อปรากฏว่า มีผู้ยื่นประกวดราคาเพียงรายเดียว ทำให้ต่อมานายศรีสุวรรณ จรรยากับพวกร้องเรียนทั้งต่อกมธ. งบประมาณและร้องต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ตรวจสอบเนื่องจากตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการกำหนดสเปกเพื่อเอื้อประโยชน์แก่บริษัทรายใดรายหนึ่ง
สำหรับเครื่องบินขนาดกลาง 2 ลำที่อยู่ระหว่างจัดซื้อ มีสเปกใกล้เคียงกับเครื่องบิน LET L-410 NG ที่ผลิตโดยบริษัท Aircraft Industries ของสาธารณรัฐเช็ก
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทยได้รับรายงานจากแหล่งข่าวในกรมฝนหลวงและการบินเกษตรในประเด็นที่เป็นข้อกังวลของผู้ปฏิบัติงานในส่วนของนักบินและช่างซ่อมเครื่องบินเกี่ยวกับการจัดซื้อเครื่องบิน 2 ลำครั้งนี้คือ หากได้เครื่องบิน LET L-410 NG จะทำให้เครื่องบินที่ใช้ปฏิบัติการฝนหลวงมีจำนวนแบบเครื่องบินเพิ่มขึ้นอีก โดยก่อนหน้านี้กรมฝนหลวงฯ เพิ่งจัดซื้อเครื่องบินขนาดกลาง 2 เครื่อง (ยังไม่ได้มีการส่งมอบ) โดยได้เป็นเครื่อง SkyCourier ตัวแทนจำหน่ายคือ บริษัท เอ็ม-แลนดาร์ช จำกัด
การมีเครื่องบินหลายแบบจะทำให้ยากต่อการบริหารจัดการเนื่องจากต้องใช้เครื่องบินต่างแบบมาบินผสมกันในการปฏิบัติงาน ขณะที่จำนวนนักบินไม่เพียงพอ อีกทั้งมีนักบินลาออกและสมัครเข้าใหม่บ่อยครั้ง ปกติแล้วกรมฝนหลวงฯ มีระบบให้นักบินที่มีชั่วโมงบินสูงทำหน้าที่ครูการบินสอนนักบินใหม่ให้เกิดความชำนาญ เมื่อมีเครื่องบินแบบใหม่เข้ามาจะต้องใช้เวลาในการสร้างครูการบินในแบบเครื่องบินนั้นๆ นอกจากนี้ยังจะเกิดความยุ่งยากในการสำรองอะไหล่ เครื่องยนต์ รวมถึงอุปกรณ์การบินเฉพาะแบบ เมื่อเปรียบเทียบกับสายการบินพาณิชย์ส่วนใหญ่จะพบว่า ส่วนใหญ่ใช้เครื่องบินแบบเดียวเพื่อให้สะดวกต่อการบริหารจัดการ
สำหรับเครื่องบิน LET L-410 NG มีน้ำหนักบรรทุกน้อยกว่าเครื่องบิน Casa ในการขึ้นบินทำฝนหลวงจะต้องใช้สารฝนหลวง 2 ตันต่อ 1 รอบปฏิบัติงาน โดย Casa รับน้ำหนักบรรทุกได้ 1 ตันจึงใช้ 2 ลำต่อ 1 รอบปฏิบัติงาน ระยะเวลาในการบินแต่ละรอบปฏับัติงานประมาณ 1ชั่วโมง 40 นาทีถึง2 ชั่วโมง Casa เติมน้ำมันเต็มถัง บินได้นานประมาณ 5 ชั่วโมง กรณีที่ต้องปฏิบัติงานต่อเนื่องจึงสามารถบินได้ 2 เที่ยว โดยยังมีเชื้อเพลิงสำรองด้วย ขณะที่ LET L-410 NG ซึ่งน้ำหนักบรรทุกน้อยกว่า Casa นั้น จะต้องเพิ่มเที่ยวบินให้ถี่ขึ้นต่อรอบการปฏิบัติงาน หรือหากจะบรรทุกสารฝนหลวงให้เท่ากับ Casa จะต้องลดปริมาณเชื้อเพลิงที่เติม ในการปฏิบัติงานต่อเนื่อง ต้องพักเติมเชื้อเพลิงซึ่งอาจมีผลต่อการช่วงชิงจังหวะที่สภาพอากาศเข้าเงื่อนไขในการทำฝนหลวง
นอกจากนี้ยังมีรายงาน บริษัทเพียงรายเดียวที่ยื่นประกวดราคาเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2567 ได้เสนอราคาประมาณ 1,200 ล้านบาท แม้จะต่ำกว่าวงเงินงบประมาณที่กำหนดไว้ 1,300 ล้านบาท แต่สูงกว่าราคากลางที่กำหนดไว้ที่ประมาณ 1,180 ล้านบาท จึงอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ยังไม่ประกาศว่า ใครเป็นผู้ชนะการประกวดราคาเนื่องจากมีการร้องเรียนของบริษัทอื่นที่เสียประโยชน์ต่อเข้ายื่นประกวดราคาครั้งนี้ รวมถึงการร้องเรียนของแก็งตบทรัพย์ของนายศรีสุวรรณกับพวก
สำหรับอากาศยานของกรมฝนหลวงฯ มี 2 ประเภทคือ อากาศยานปีกตรึงและอากาศยานปีกหมุน โดยอากาศยานปีกตรึงประกอบด้วย เครื่องบินขนาดเล็กคือ Cessna Caravan 12 เครื่อง เครื่องบินขนาดกลางคือ Casa 16 เครื่อง ขนาดใหญ่คือ CN 2 เครื่อง และเครื่องบินปรับความดันอากาศคือ Super King Air 3 เครื่อง
ส่วนอากาศปีกหมุนหรือเฮลิคอปเตอร์มี BELL 206B3 จำนวน 3 เครื่อง BELL 407GXP 3 เครื่อง BELL 412EP 1 เครื่อง และ AS 350 B2 (ECUREUIL) 1 เครื่อง. – 512 – สำนักข่าวไทย