ศาลยกฟ้อง กลุ่มพันธมิตรฯ คดีกบฏบุกยึดสนามบินดอนเมือง เมื่อปี 2551 แต่ลงโทษปรับ 13 แกนนำ 20,000 บาท ฐานบุกรุก-ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ที่ศาลอาญา ศาลนัดอ่านคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 9 เป็นโจทก์ฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กับพวกรวม 32 คน ร่วมกันเป็นจำเลย ในความผิด ฐานเป็นกบฏ ก่อการร้ายฯ จากกรณีปิดสนามบินดอนเมือง
ตามฟ้อง โจทก์บรรยายสรุปว่าเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2551 พวกจำเลยได้ร่วมกันโฆษณาชักชวนให้ประชาชนมาร่วมกันชุมนุมใหญ่ โดยกระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ และปิดล้อมอาคารวีไอพี ท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งอยู่ในความครอบครองของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ผู้เสียหายที่ 1 บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ผู้เสียหายที่ 2 และทำลายทรัพย์สินเสียหายเป็นเงิน 627,080 บาท แล้วนำจานรับสัญญาณของพวกจำเลยไปติดตั้งใกล้เครื่องรับสัญญาณเรดาร์ของบริษัท วิทยุการบินฯ ผู้เสียหายที่ 3 และทำการปิดกั้นสะพานกลับรถของกรมทางหลวง ผู้เสียหายที่ 4 ตรวจค้นตัวเจ้าหน้าที่ของบริษัท การบินไทยฯ ผู้เสียหายที่ 5 ปิดกั้นการบริการสื่อสารบริษัท ไปรษณีย์ไทยฯ ผู้เสียหายที่ 6 และร่วมกันขู่เข็ญใช้กำลังประทุษร้ายบุคคลและทรัพย์สิน เพื่อกดดันให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้นลาออก เหตุเกิดที่แขวงและเขตดอนเมือง กทม. โจทก์จึงขอให้ศาลพิพากษาลงโทษพวกจำเลยตามความผิดด้วย พวกจำเลยให้การปฏิเสธ
และเมื่อถึงประมาณ 11.00 น. ศาลเริ่มอ่านคำพิพากษา มี จำเลย 2 คน คือ พล.ต.จำลอง และนายเทิดภูมิ ป่วยรักษาตัวอยู่ที่ รพ. ศาลประสานให้จำเลยทั้ง 2 ฟังการอ่านคำพิพากษาผ่านทาง วีดีโอคอนเฟอเรนซ์ ส่วนจำเลยที่เหลือมาครบ โดยศาลใช้เวลาอ่านประมาณ 1 ชั่วโมง โดยพิเคราะห์แล้ว พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1-5 จำเลย 7-13 และ จำเลยที่ 31 กระทำความผิดฐานบุกรุก และฝ่าฝืน พรก.ฉุกเฉินฯ2548 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษบทหนักสุด คือความผิดตาม พรก.ฉุกเฉินฯ2548 พิพากษาให้ลงโทษปรับ คนละ 20,000 บาท ส่วน ข้อหาอื่นๆ พยาน และหลักฐานของโจทก์ ไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดจึงยกฟ้อง ส่วนจำเลยที่เหลือ ศาลได้ยกฟ้องทั้งหมด
ซึ่งการชุมนุมในครั้งนั้นแม้จะเป็นพื้นที่สนามบินดอนเมืองแต่ เป็นการชุมนุมในพื้นที่สาธารณะไม่เกี่ยวข้องกับการบินที่ไม่กระทบกับประชาชน และไม่มีการทำร้ายผู้โดยสารรวมถึงพนักงาน รวมถึง การชุมนุมดังกล่าวไม่มีการพกอาวุธและก่อจราจลวุ่นวาย ถึงแม้จะเกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนบ้าง ก็เป็นเรื่องปกติของการชุมนุม ศาลจึงมองว่าการชุมนุมโดยรวมทั้งหมด เป็นไปด้วยความสงบปราศจากอาวุธอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ จึงไม่เป็นความผิดในฐานก่อการร้าย รวมถึงข้อหาอื่นๆยกเว้นฝ่าฝืน พรก.ฉุกเฉิน และ ข้อหา บุกรุก ส่วนข้อหาก่อการร้ายที่ยกฟ้องนั้นเนื่องจากการนั้นไม่มีการใช้อาวุธทำลาย ระบบคมนาคมขนส่งหรืออากาศยาน จึงถือว่าไม่เข้าข่ายความผิด
ภาพ ชำนาญวุฒิ สุขุมวานิช