กรุงเทพฯ 14 ก.ค. – กรมชลฯ เร่งสูบน้ำบริเวณประตูระบายน้ำวัดใบบัว ป้องกันน้ำท่วมพื้นที่นาข้าวกว่า 4,000 ไร่
นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำบริเวณประตูระบายน้ำวัดใบบัว อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่นอกคันกั้นน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีระดับสูงขึ้นจากปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ตอนบน โดยระบุว่าสืบเนื่องจากมีฝนตกหนักเหนือเขื่อนเจ้าพระยาขึ้นไป บริเวณจังหวัดกำแพงเพชร ชัยนาท นครสวรรค์ และลพบุรี ทำให้ปริมาณน้ำดังกล่าวไหลเข้าสู่เขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น คาดว่าภายใน 3-4 วัน จะมีปริมาณมากถึง 2,100 ลูกบาศก์เมตร จึงมีความจำเป็นต้องระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยามากขึ้น ซึ่งอาจต้องระบายมากถึง 1,500 ลูกบาศก์เมตร
ทั้งนี้ วันนี้ระบายอยู่ที่ 1,150 ลูกบาศก์เมตร โดยค่อย ๆ ทำการระบาย ดังนั้น จะมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบบริเวณนี้ คือ อำเภอเสนา อำเภอบางบาล ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ จึงเข้ามาดูพื้นที่ก่อนที่น้ำจะมาถึง พบว่าพื้นที่ประตูระบายน้ำใบบัว มีพื้นที่นาข้าวกว่า 4,000 ไร่ ซึ่งอีก 1 เดือน จะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวได้แล้ว จากที่ได้มีการปรับปฏิทินการปลูกข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ แต่ปีนี้ฝนมาเร็ว อีกทั้งปริมาณน้ำฝนที่ตกในพื้นที่ไม่สามารถระบายออกได้ เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำน้อยสูง จึงต้องเร่งสูบออก ซึ่งกรมชลประทานได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 2 เครื่อง บริเวณประตูระบายน้ำวัดใบบัว เพื่อเร่งสูบน้ำ ป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับพื้นที่นาข้าวของเกษตรกร ซึ่งเป็นความห่วงใยจากพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่กำชับให้กรมชลประทานเร่งเข้ามาดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่
รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเน้นย้ำว่า ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกกับปริมาณน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาที่มีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบในพื้นที่ที่เคยเกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่กรมชลประทานจะป้องกันดูแลเพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นให้น้อยที่สุด และขอให้ประชาชนในพื้นที่ติดตามข่าวสารจากหน่วยงานในพื้นที่ไม่ว่าเป็นกรมชลประทาน ฝ่ายปกครอง หรือฝ่ายความมั่นคง ซึ่งบูรณาการการทำงานร่วมกันที่พร้อมให้การช่วยเหลืออยู่แล้ว
ด้านนายสุชาติ เจริญศรี ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 กล่าวว่า ปีนี้ปริมาณน้ำฝนบริเวณใต้เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ไม่เข้าในเขื่อนเก็บกัก โดยจะอยู่แถบบริเวณจังหวัดกำแพงเพชร นครสวรรค์ พิจิตร อุตรดิตถ์ ทำให้ปริมาณน้ำไหลลงมารวมกันที่เขื่อนเจ้าพระยา แต่พื้นที่ลุ่มต่ำ 2 ฝั่งเจ้าพระยามีปริมาณน้ำฝนสะสมจากฝนที่ตกทุกวันอยู่แล้ว ซึ่งอาจจะทำให้ผลผลิตข้าวเสียหาย ซึ่งต้องรักษาพื้นที่นาข้าวไว้ แต่ก็จะกระทบกับประชาชนในเรื่องของการสัญจรบ้าง รวมทั้งขอให้ประชาชนและเกษตรกรอย่าตื่นตระหนกกับกระแสข่าว กรมชลประทานไม่เคยทอดทิ้ง พร้อมดูแลให้การช่วยเหลือตลอดเวลา และขอให้ช่วยแจ้งข่าวไปยังเพื่อนบ้านใกล้เคียงถึงสถานการณ์น้ำที่เกิดขึ้น รวมทั้งความช่วยเหลือจากหน่วยงานในพื้นที่.-สำนักข่าวไทย