กระทรวงการต่างประเทศ 18 ต.ค.-กต.แจงคนไทยในอิสราเอลที่ต้องการกลับประเทศ วอล์คอินได้ที่ศูนย์พักพิง เผย หลัง 22 ต.ค.เตรียมอพยพไปพักรอที่ดูไบก่อนกลับไทย การันตี 17 ตัวประกันปลอดภัย
นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงความคืบหน้าการอพยพคนไทยและแรงงานไทยในอิสราเอล จากเหตุความรุนแรงในตะวันออกกลางว่า ขณะนี้ รัฐบาลพยายามจัดเที่ยวบินเทลอาวีฟ-กรุงเทพฯ ทุกวัน เพื่อให้สามารถอพยพคนไทยได้วันละ 400 คน โดยตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคมนี้ เป็นต้นไป จะมีการลำเลียงคนไทยที่ต้องการกลับประเทศ ไปเปลี่ยนเครื่องที่นครดูไบ ซึ่งจะมีเครื่องบินขนาดใหญ่ ที่รัฐบาลจะจ้างเหมาลำเลียงระหว่างเทลอาวีฟมายังดูไบ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง จากนั้น จะมีสายการบินพาณิชย์ที่ได้ประสานงานกันไว้ ทั้งเครื่องบินกองทัพอากาศ การบินไทย นกแอร์ แอร์เอเชีย และไลออนแอร์ เพื่อรับคนไทยจากดูไบ กลับมายังประเทศไทย ซึ่งขณะนี้ ได้กำหนดตารางการบินไว้พร้อมแล้ว ว่าสายการบินใด จะทำการบินเมื่อใด ในเวลาใด และมีผู้โดยสายเท่าไร ซึ่งหากมีผู้โดยสารตกหล่น สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงอาบูดาบี สหรัฐอารับเอมิเรตส์ และสถานกงสุลใหญ่นครดูไบ ก็จะเปิดห้องพักไว้รับรอง เพื่ออำนวยความสะดวกคนไทย และทั้งสถานทูตฯ และสถานกงสุลใหญ่ จะอำนวยความสะดวกในการออกวีซ่าเพื่อเข้าประเทศให้ด้วย และยังได้ประสานกับทางการท้องถิ่น ท่าอากาศยาน และโรงแรมพร้อมแล้ว แต่ในระหว่างนี้ทุกวัน ก็จะยังคงมีเที่ยวบินตามปกติ ทั้งของกองทัพอากาศ การบินไทย อิสราเอลแอร์ไลน์ และสไปร์ทเจ็ท เพื่ออพยพคนไทยที่ต้องการกลับประเทศให้รวดเร็วที่สุด
“ตั้งแต่มีการอพยพนั้น สามารถนำคนไทยกลับประเทศได้แล้ว 926 คน จากทั้งหมด 7 เที่ยวบิน โดยยังไม่รวมจำนวนคนไทย และแรงงานไทยที่เดินทางกลับมาเอง พร้อมยังขอบคุณพี่น้องคนไทย ที่ช่วยคนเคลื่อนย้าย รับคนไทย และแรงงานไทยในอิสราเอล โดยเฉพาะ “พี่แจ๋น” ที่ได้ช่วยกันดูแลคนไทยในอิสราเอล และส่งคนไทยให้ถึงสถานทูต เพื่อเดินทางกลับบ้าน และมั่นใจว่า สิ้นเดือนตุลาคมนี้ หรือต้นเดือนพฤศจิกายน จะสามารถอพยพคนไทยได้ตามเป้าหมาย”นางกาญจนา กล่าว
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ยังย้ำด้วยว่า สถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงเทลอาวีฟ ได้จัดให้คนไทยเข้าศูนย์พักพิง เพื่อรอเดินทางกลับประเทศไทย ที่โรงแรมเดวิดอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทลอาวีฟ และยังมีโรงแรมใกล้เคียงอีก 7 แห่ง เพื่อรอเดินทางขึ้นเครื่องบินกลับประเทศ ซึ่งคนไทยในอิสราเอลที่ต้องการเดินทางกลับประเทศ ทั้งที่ลงทะเบียนไว้แล้ว หรือไม่ได้ลงทะเบียน สามารถเดินทางไปที่โรงแรมดังกล่าว เพื่อกลับประเทศได้ ซึ่งหากแรงงานไม่มีหนังสือเดินทาง สถานทูตฯ ก็พร้อมออกเอกสารเดินทางชั่วคราวระหว่างพักอยู่ที่ศูนย์พักพิงให้ได้ ซึ่งขณะนี้ มีผู้ลงทะเบียนขอเดินทางกลับประเทศไทยแล้วทั้งสิ้น 8,160 คน และยังไม่ประสงค์เดินทางกลับ 110 คน
ส่วนการอพยพคนไทยใกล้ฉนวนกาซากว่า 5,000 คนนั้น โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ยืนยันว่า คนไทยส่วนใหญ่ได้อพยพออกมาแล้ว แต่อาจจะมีบางส่วนที่ยังไม่สามารถอพยพได้ แต่กระทรวงฯ และสถานทูตฯ ได้พยายามติดตามทุกช่องทาง เพื่อให้ความช่วยเหลือ รวมถึงการส่งข้อความแจ้งเตือนแก่พลเมืองไทยในพื้นที่ที่ใช้บริการโรมมิ่งในอิสราเอล เพื่อส่งข้อมูลแจ้งเตือน รวมถึงการส่งข้อมูลต่าง ๆ ที่มีผู้ส่ง หรือแจ้งมาตามช่องทางการสื่อสารของกระทรวง เพื่อแจ้งต่อกรมการกงสุล ให้ความช่วยเหลือต่อไป และขอให้คนไทย แรงงานไทย มั่นใจในความปลอดภัยก่อนอพยพมายังศูนย์พักพิง เพราะแม้จะมีผู้โดยสารตกหล่น ก็สามารถนำผู้ที่รอการอพยพขึ้นไปทดแทนได้ และเที่ยวบินก็จะมีทุกวัน
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ยังชี้แจงกรณีที่จำนวนผู้เดินทางกลับในเที่ยวบินต่าง ๆ ที่ลงทะเบียนไว้ แต่ในการเดินทางกลับจริง มีจำนวนไม่ตรงกันว่า มีหลายสาเหตุ เช่น ลงทะเบียนไว้ แต่สละสิทธิ์ หรือไม่สามารเดินทางออกมาจากพื้นที่ได้ หรืออยู่ในพื้นที่อื่นๆ ยืนยันว่า สถานทูตฯ จะติดตามผู้ที่ลงทะเบียนไว้ทุกคน เพื่อให้ผู้ที่ประสงค์จะเดินทางกลับประเทศสามารถกลับบ้านได้
พร้อมกันนี้ ยังชี้แจงถึงกรณีที่มีผู้ตั้งข้อสงสัยเหตุใดเที่ยวบินไทยจึงต้องบินอ้อม ไม่บินเส้นทางตรงเข้าสู่อิสราเอลว่า เนื่องจาก บางประเทศไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอล ดังนั้น บางประเทศเหล่านั้น ก็จะไม่อนุญาตให้ไทยทำการบินผ่านประเทศนั้นๆ ทำให้ต้องบินอ้อม และกระทรวงการต่างประเทศ ก็กังวลว่า หากขออนุญาตบินผ่านประเทศนั้นๆ แล้ว จะเกิดความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับอนุญาต หรือเกิดความล่าช้า จึงได้ตัดสินใจให้ทำการบินอ้อม 3-4 ชั่วโมง เพื่อความชัวร์ และความแน่ใจ เพื่อไม่ให้คนไทยในอิสราเอลต้องเสี่ยง หรือรอความล่าช้าที่เกิดขึ้น
“เราไม่ได้ขอบินผ่านประเทศที่จะมีความเสี่ยงว่า อาจจะไม่ได้รับอนุญาต หรืออาจจะได้รับอนุญาต แต่ล่าช้า ซึ่งประเทศเหล่านี้ เราไม่ได้ขอบินผ่าน เพราะเราคิดว่า การเสียเวลาอ้อมสัก 3-4 ชั่วโมง ดีกว่าต้องไปขออนุญาตกับประเทศที่ไม่อนุญาตให้บินไปปลายทางสู่อิสราเอล ทำให้ต้องไปหลายประเทศ และต้องขอเป็นกรณีพิเศษเพื่อทำการบิน อาจต้องใช้เวลา สู้เราเอาให้ชัวร์ๆ ว่า เราขอแล้วเราจะได้แน่ๆ ซึ่งโดยปกติการขออนุญาตทำเส้นทางการบิน ต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ และที่ผ่านมาได้เร่งรัดให้ทุกสถานทูตในพื้นที่ ติดต่อกับกระทรวงการต่างประเทศนั้นๆ ดังนั้น เราจึงไม่ได้ขอ เพื่อทำให้เกิดความรวดเร็ว และไม่เสี่ยงที่จะทำให้เกิดความล่าช้า ส่วนประเทศอื่นที่บินได้ ก็อาจจะมีข้อตกลงกัน หรือหากไทยขอ ในห้วงเวลาสงครามนี้ อาจจะได้ก็ได้ แต่เราไม่อยากเสี่ยง และไม่อยากรอ ไม่อยากทำให้คนไทยต้องเสียเวลารอการขออนุมัติต่างๆ ดังนั้น การบินเพิ่ม 3-4 ชั่วโมงจึงไม่ใช่ประเด็น” นางกาญจนา กล่าว
ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตนั้น โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ราย ส่งผลให้มีจำนวนผู้เสียสะสม 30 ราย บาดเจ็บคงเดิม 16 คน และถูกจับเป็นตัวประกัน 17 คน พร้อมกล่าวถึงการโจมตีโรงพยาบาลในฉนวนการซา เมื่อคืนนี้ (17 ต.ค.) ว่า ถือเป็นการผิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศอย่างรุนแรง เนื่องจาก เป้นการโจมตีโรงพยาบาล เพราะตามปกติ จะไม่มีการโจมตีโรงพยาบาล โรงเรียน หรือพลเรือน จนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บจำนวนมาก ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศของไทยขอแสดงความเสียใจต่อความสูญเสียครั้งนี้ และกระทรวงการต่างประเทศ จะมีการแถลงการณ์ต่อเหตุการณ์ดังกล่าวต่อไป เนื่องจาก เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้สถานการณ์แย่ลงไปมาก เพราะเดิมทีจะมีการหารือระหว่างผู้นำสหรัฐอเมริกา กับผู้นำประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ก็ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ยังขอให้ประชาชนคนไทยที่พำนักในต่างประเทศ ติดตามสถานการณ์ในประเทศนั้น ๆ หลังมีการโจมตีโรงพบาบาลในฉนวนกาซา จนเกิดการประท้วงในหลายประเทศว่า มาตรการต่าง ๆ ที่ทางการท้องถิ่นมีรายละเอียดอย่างไร มีการประกาศเตือนการก่อการร้าย การยกระดับความปลอดภัยหรือไม่ และขอให้คนไทย มีเบอร์ติดต่อ หรือช่องทางการติดต่อสถานทูต สถานกงสุลในประเทศนั้น ๆ เพื่อสามารถติดต่อรับความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที พร้อมยังแจ้งเตือนประชาชนที่ยังเดินทางไปยังในประเทศพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะกรุงเยรูซาเล็ม เมืองหลวงของอิสราเอล ให้พิจารณางดเว้นการเดินทางไว้ก่อนด้วย เพราะอาจเกิดปัญหาไม่สามารถเดินทางกลับได้
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ยังชี้แจงย้ำถึงแนวทางการเจรจา เพื่อช่วยเหลือคนไทยที่ถูกกลุ่มฮามาสจับเป็นตัวประกันว่า ทั้งนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้หารือทุกระดับ ทั้งระดับผู้นำ รัฐบาล รัฐมนตรี หรือสถานทูต เพื่อเรียกร้อง และยืนยันความปลอดภัยของตัวประกัน และปล่อยตัวผู้ถูกจับทั้งหมด ซึ่งได้รับการยืนยันว่า คนไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกันทั้งหมด ยังมีความปลอดภัย และทราบว่า ยังไม่มีการสังหารตัวประกัน เพื่อการต่อรองใดๆ แต่ยังไม่ทราบว่า จะมีการปล่อยตัวเมื่อใด และยอมรับว่า ข้อมูลการเจรจาต่างๆ เป็นข้อมูลที่ละเอียดอ่อน ที่ไม่มีการเปิดเผย แต่ขอให้วางใจได้ว่า ทุกฝ่ายจะดำเนินการอย่างดีที่สุด เพื่อให้คนไทยมีความปลอดภัย และสามารถกลับประเทศได้ และสถานทูตกรุงเทลอาวีฟ ก็ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่.-สำนักข่าวไทย