กรมชลประทาน 27 ก.ย. -นายกฯ ตามสถานการณ์น้ำที่กรมชลประทาน ห่วงน้ำท่วม โดยเฉพาะอุบลราชธานี สั่งเร่งระบายน้ำ บอก อีก 10 วัน จะลงพื้นที่ด้วยตัวเอง เข้าใจทุกคนทำงานหนัก แต่ขอทำงานอย่างลืมความเหน็ดเหนื่อย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังเยี่ยมชมงานโอทอปที่อิมอพค เมืองทองธานี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางมาที่กรมชลประทาน เพื่อรับฟังสถานการณ์น้ำจากนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เนื่องจากปัจจุบันมีปริมาณน้ำ จากมรสุมและฝนตกหนัก ทำให้เกิดน้ำท่วมบริเวณกว้างในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสาน โดยอธิบดีกรมชลประทาน รายงานว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนใหญ่ทั่วประเทศยังน้อยกว่าปี2565 โดยปริมาณน้ำใช้ได้ทั้งประเทศในปี 2566 ขณะนี้มีอยู่ที่ราว 2,500 ล้านลูกบาศก์เมตร น้อยกว่าปี 2565 ถึง 5,000 กว่าล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งอ่างเก็บน้ำ และเขื่อนหลักทั่วประเทศ ยังสามารถรับน้ำได้อีก 2,600 ล้านลูกบาศก์เมตร
“ปริมาณน้ำใช้ได้ในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีปริมาณน้ำที่ต่ำกว่าเกณฑ์ 30% ของความจุอ่าง 6 แห่ง ประกอบไปด้วยอ่างเก็บน้ำปราณบุรี, อ่างเก็บน้ำกระเสียว , อ่างเก็บน้ำทับเสลา , อ่างเก็บน้ำป่าสักชลสิทธิ์และอ่างเก็บน้ำภูมิพล ขณะที่นิคมอุตสาหกรรมต่างๆในพื้นที่ภาคตะวันออก ยังไม่ได้รับผลกระทบ” อธิบดีกรมชลประทาน กล่าว
นายประพิศ กล่าวว่า จากการรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า ฝนจะตกถึงช่วงสิ้นเดือนตุลาคมนี้เท่านั้น หากจะตกก็จะตกอยู่ที่บริเวณท้ายเขื่อนทำให้ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ ขณะเดียวกันมวลฝนจะเคลื่อนที่ไปยังภาคใต้ ซึ่งในส่วนพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีไล่ลงไป ได้เตรียมการรับมือน้ำท่วมน้ำหลากไว้แล้ว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นห่วงสถานการณ์น้ำโดยเฉพาะในพื้นที่อุบลราชธานี เนื่องจากได้รับรายงานจากส.ส.ในพื้นที่ว่าขณะนี้มีปริมาณน้ำค่อนข้างมาก ปริมาณฝนในปีนี้ตกช้ากว่ากำหนดไปประมาณ 1 เดือน ก็หวังว่าฝนจะตกช้าไปอีก 1 เดือน เพื่อให้สามารถเก็บน้ำได้ ซึ่งอีก 10 วัน จะลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อไปติดตามสถานการณ์น้ำ
นายกรัฐมนตรี สอบถามว่าพื้นที่ภาคตะวันออกขณะนี้มีปัญหาเรื่องน้ำหรือไม่ ซึ่งอธิบดีกรมชลประทานได้บอกว่าไม่มีปัญหา เนื่องจากระบายน้ำ ส่วนเกินจากแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านคลองไชยยานุชิด ไปยังอ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี
นายกรัฐมนตรี ถามย้ำอีกครั้งถึงภาพรวมอุตสาหกรรมน้ำทั้งหมด โดยเน้นไปที่จังหวัดภาคอีสาน ซึ่งได้รับการยืนยันว่าไม่มีปัญหาเช่นกัน
ด้านร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากที่จังหวัดอุบลราชธานี เกิดจากปัญหาการระบายน้ำบริเวณแก่งสะพือ ซึ่งจะต้องทำบายพาสแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน นายกรัฐมนตรีจึงกำชับว่าขอให้เร่งแก้ปัญหานี้
จากนั้น นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายให้ข้าราชการกรมชลรับประทานทั่วประเทศผ่านระบบออนไลน์ พร้อมขอบคุณที่ทุกคนช่วยกันระวัง นายกรัฐมนตรีเป็นห่วงสถานการณ์น้ำในขณะนี้ แต่ก็เข้าใจเป็นเรื่องที่ควบคุมยาก ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง ขอฝากกรมชลประทาน และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังทุกช่วงเวลา เข้าใจว่าทุกคนทำงานหนัก ขอให้ทุกคนทำงานอย่างลืมความเหน็ดเหนื่อย เนื่องจากสถานการณ์น้ำก็สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจ และการเกษตร คงไม่ต้องย้ำอะไรมาก เพราะทุกคนเป็นผู้ใหญ่กันแล้ว แต่ขอให้เข้าใจว่าหากมีรัฐมนตรีมากวดขัน ก็เป็นเพราะมาจากตนสั่งการ ขอให้วางแผนระยะกลาง ระยะยาว ซึ่งตนจะพยามติดตามและลงพื้นที่ให้มากยิ่งขึ้น.-สำนักข่าวไทย