กรุงเทพฯ 24 ก.ย.- อธิบดีกรมชลประทาน เผยใช้เวลาอีก 38 วันก่อนสิ้นสุดฤดูฝน 2566 เร่งเก็บกักน้ำจากฝนที่ตกชุกขึ้นในระยะนี้ กำชับทุกโครงการชลประทาน หาแหล่งน้ำสำรองสำหรับฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึง ย้ำแผนการบริหารจัดการน้ำ โดยจัดสรรอย่างประณีตตามความต้องการใช้แต่ละภาคส่วน เพื่อรองรับสภาวะเอลนีโญ ซึ่งจะต่อเนื่องตลอดปี 2567
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สั่งการให้กรมชลประทานเร่งกักเก็บน้ำในแหล่งกักเก็บน้ำทุกแหล่งในพื้นที่ชลประทานให้มากที่สุดในช่วงปลายฤดูฝน 2566
ล่าสุดกรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งผลการพยากรณ์อากาศว่า ช่วงวันที่ 26 – 29 กันยายน หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้จะเคลื่อนตามแนวร่องมรสุม เข้าปกคลุมประเทศเวียดนามตอนกลาง ลาว และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก กทม. และปริมณฑล โดยยังต้องติดตามและประเมินเป็นระยะๆ ว่า หย่อมความกดอากาศต่ำจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุได้หรือไม่ แต่ลักษณะดังกล่าวจะทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในบริเวณที่หย่อมความกดอากาศต่ำที่เคลื่อนเข้าปกคลุม จากนั้นระหว่างวันที่ 30 กันยายน – 3 ตุลาคม จะยังคงมีฝนตกต่อเนื่องตามแนวร่องมรสุมที่จะเลื่อนขึ้นมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน
กรมชลประทานได้มอบหมายให้โครงการชลประทานทั่วประเทศเก็บกักน้ำจากฝนที่จะตกลงมาเพิ่มไว้ให้มากที่สุด พร้อมกันนี้ให้หาแหล่งน้ำสำรองและกักเก็บน้ำไว้ในแหล่งน้ำสำรองให้มากที่สุดด้วย เพื่อรองรับการใช้ในช่วงฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึง
ทั้งนี้แผนการบริหารจัดการน้ำในฤดูฝน 2566 ซึ่งเกิดสภาวะเอลนีโญทำให้ปริมาณฝนน้อยกว่าค่าปกตินั้น จัดทำรองรับสถานการณ์น้ำตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า สภาวะเอลนีโญจะต่อเนื่องไปตลอดปี 2567 ดังนั้นกรมชลประทานจึงจัดสรรน้ำอย่างประณีตให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ในแต่ละกิจกรรมตั้งแต่ต้นฤดูฝนที่ผ่านมา
สำหรับในทุ่งเจ้าพระยาได้ใช้เขื่อนต่างๆ กักเก็บน้ำ รวมถึงใช้เขื่อนเจ้าพระยาและระบบชลประทานเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ เพื่อรองรับและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากสภาวะเอลนีโญ ดังนี้
- การระบายจากเขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์ซึ่งมีน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำรวมวันละ 145 ล้านลูกบาศก์เมตร (ข้อมูล 23 กันยายน 2566) ได้ระบายรวมกันประมาณ 4-5 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน เพื่อการกักเก็บน้ำให้ได้มากที่สุดสำหรับใช้ในฤดูแล้ง โดยน้ำระบายดังกล่าว ใช้เพื่อการรักษาระบบนิเวศน์และอุปโภคบริโภคด้านท้ายอ่างเก็บน้ำเท่านั้น
- การบริหารจัดการน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยา ได้กักเก็บน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ระดับ 16.800 ม. รทก. ซึ่งสูงกว่าระดับปกติประมาณ 0.30 ม. เพื่อยกระดับน้ำเข้าสู่คลองเหนือเขื่อนเจ้าพระยาให้มากที่สุด โดยไม่กระทบต่อพื้นที่และสามารถรองรับฝนที่อาจตกมากในพื้นที่ด้วย เพื่อผันน้ำเข้าระบบชลประทานเข้าไปกักเก็บในแหล่งกักเก็บน้ำและพื้นที่ชลประทาน สำหรับใช้ประโยชน์ ดังนี้
- ส่งน้ำพื้นที่นาปีส่วนที่ยังไม่เก็บเกี่ยว
- ใช้สำหรับการอุปโภค-บริโภคในช่วงฤดูแล้ง
- ใช้ในการเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อย ตลอดจนไม้ยืนต้นในช่วงฤดูแล้ง
- รักษาระบบนิเวศน์
- การผันเข้าสู่ระบบชลประทานทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก ผันรวมไม่น้อย 500 ลบ.ม./วินาที หรือไม่น้อยกว่า 43 ล้าน ลบ.ม./วัน ดังนี้
- ฝั่งตะวันออก ผันทางคลองชัยนาท-ป่าสักและคลองชัยนาท-อยุธยา โดยมีน้ำบางส่วนผันลงสู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาไปถึงคลองพระองค์ไชยยานุชิต เพื่อสูบผันน้ำไปเก็บที่อ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี
- ฝั่งตะวันตก ผันทางแม่น้ำท่าจีน แม่น้ำน้อย และคลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง
ส่วนสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดนครสวรรค์ซึ่งปริมาณน้ำไหลผ่านเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีประมาณฝนตกท้ายอ่างเก็บน้ำของ 4 เขื่อนหลัก ปัจจุบันไหลผ่านที่อัตรา 1,258 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ปริมาณน้ำดังกล่าว กรมชลประทานต้องบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยใช้เขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท และระบบชลประทานรับน้ำเพื่อการบริหารจัดการ
ทั้งนี้ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาที่เหลือจากการส่งน้ำเพื่อกิจกรรมต่างๆ แล้ว รวมถึงปริมาณน้ำที่คงไว้สำหรับรักษาความมั่นคงของตัวเขื่อน จะมีน้ำส่วนเกินที่มีความจำเป็นต้องระบายเพื่อรักษาสมดุลของปริมาณน้ำที่หลากมาเหนือเขื่อนเจ้าพระยา โดยระบายไม่เกิน 1,000 ลบ.ม./วินาที ปัจจุบันมีการระบายสูงสุด 898 ลบ.ม./วินาทีและมีแนวโน้มลดลง ปริมาณน้ำที่ระบายท้ายเขื่อนดังกล่าว จะใช้ในกิจกรรมต่างๆ ในเขตจังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี รวมทั้งการผลิตประปาของการประปานครหลวง ตลอดจนการรักษาคุณภาพน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้วย
กรมชลประทานขอย้ำว่า จะเร่งเก็บกักน้ำในระบบชลประทานและแหล่งเก็บกักน้ำในชุมชนให้ได้มากที่สุด รวมทั้งขอความร่วมมือเกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวนาปีและเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ งดทำนาต่อเนื่อง เนื่องจากปริมาณน้ำที่เก็บกักดังกล่าว จะสงวนไว้สำหรับสนับสนุนน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภคและรักษาระบบนิเวศเท่านั้น เพื่อให้มีน้ำเพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้ง 2566/2567.-สำนักข่าวไทย