กรุงเทพฯ 23 ส.ค.-บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ (ANAN) แจ้งแก้ไขปัญหา”แอชตัน อโศก”อยู่ระหว่างการดำเนินการ ยื่นขอก่อสร้างใหม่-รอร้องศาลฟื้นคดี
นายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ (ANAN) แจ้งความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาโครงการแอชตัน อโศก ของ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ว่า แนวทางที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ ได้แก่
1.ยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างใหม่ โดยการซื้อ หรือหาที่ดินเพิ่มเติมนั้น บริษัทได้หารือแนวทางการแก้ไขร่วมกับสำนักการโยธากรุงเทพมหานคร (สนย.) เพื่อดำเนินการให้เข้าหลักเกณฑ์ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 ซึ่งระบุว่าที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งอาคารขนาดใหญ่พิเศษจะต้องมีด้านใดด้านหนึ่งยาวไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะฯ
ปัจจุบันบริษัทมีแนวทางในการจัดหาที่ดิน โดยได้พิจารณาทั้งการซื้อ หรือหาที่ดิน และ/หรือการได้รับสิทธิตามกฎหมายในที่ดิน โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปในการหาที่ดินใหม่โดยเร็วที่สุด
และ ภายหลังการหารือ บริษัทได้ประเมินขั้นตอนการดำเนินงาน ซึ่งรวมถึงระยะเวลาในการแก้ไข/ ขอใบรับแจ้งก่อสร้างอาคารฯ ใหม่ โดยบริษัทจะเสนอรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ไปยังสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อพิจารณา และอาจต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2 เดือน
เมื่อได้รายงาน EIA ฉบับสมบูรณ์แล้ว บริษัทจะยื่นขออนุญาตก่อสร้างอาคารฯ ตามมาตรา 39 ทวิ ซึ่ง สนย. จะใช้ระยะเวลาในการพิจารณาประมาณ 14 วันทำการ จากนั้นเมื่อบริษัทได้รับใบรับแจ้งการก่อสร้างอาคารฯ ตามมาตรา 39 ทวิบริษัทจะดำเนินการก่อสร้างเพื่อแก้ไขทางเข้าออกโครงการใหม่เพื่อให้เป็นไปตามรายงาน EIA คาดว่าจะใช้เวลาในการดำเนินการประมาณ 3 เดือนเพื่อให้สนย.เข้าตรวจสอบการก่อสร้างของโครงการ และออกใบรับรองการก่อสร้างฯคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการพิจารณาออกใบรับรองการก่อสร้างฯ (อ.5) ประมาณ 14 วันทำการ
บริษัทประมาณการระยะเวลาในการดำเนินงาน ซึ่งรวมการแก้ไข และ/หรือขอใบรับแจ้งก่อสร้างอาคารฯ ใหม่ และอื่นๆ ทั้งหมดประมาณ 6 เดือน นับจากวันที่หาที่ดินใหม่เรียบร้อย
2 การยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้พิจารณาพิพากษาคดีใหม่ อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 75 ที่กำหนดเหตุในการขอพิจารณาพิพากษาคดีใหม่ ดังนั้นขณะนี้บริษัทฯ กำลังพิจารณาเหตุในการยื่นคำร้อง ซึ่งมีอยู่หลายกรณี เช่น กรณีมีความคลาดเคลื่อนในการแสวงหาข้อเท็จจริง การรับฟังพยานหลักฐานในกระบวนพิจารณาของศาล และ กรณีที่ในอนาคตกฎหมายที่ใช้ในการพิจารณาพิพากษามีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงไป เป็นต้น
สำหรับแนวทางดังกล่าวข้างต้น ต้องดำเนินการภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ทราบเหตุดังกล่าว แต่ต้องไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษา ซึ่งบริษัทฯ คาดว่าจะยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง ภายใน 90 วันนับแต่วันที่ศาลปกครองมีคำพิพากษา (วันที่ 27 กรกฎาคม 2566)
3.บริษัทอยู่ระหว่างประสานเจ้าของเดิมให้ขอคืนที่ดินที่ถูกเวนคืนจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) เพราะไม่ได้ใช้ตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติเวนคืนที่ดินฯ พ.ศ. 2562 มาตรา 53 และกฎกระทรวงการขอคืนที่ดินที่ถูกเวนคืน พ.ศ. 2564
4.บริษัทจะเสนอให้หน่วยงานภาครัฐแก้ไขพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการเวนคืน เพื่อขยายขอบเขตให้หน่วยงานภาครัฐใช้ที่ดินที่เวนคืนภายใต้วัตถุประสงค์ และสามารถใช้ที่ดินเพื่อประโยชน์อื่นอย่างเหมาะสมด้วย ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวต้องเสนอแก้ไขโดย รฟม. ผ่านกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ เพื่อเสนอเรื่องให้รัฐสภาอนุมัติ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 1 ปี นับจากวันที่หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องข้างต้นยกร่างเสนอแก้ไขกฎหมาย และเสนอผ่าน สนย. ไปยังกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ไปยังคณะรัฐมนตรี
บริษัทจะเสนอให้หน่วยงานภาครัฐแก้ไขกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 เพื่อแก้ไขให้เกิดความชัดเจนให้ที่ดินที่ไม่มีด้านใดด้านหนึ่งติดถนนสาธารณะ แต่มีที่ดินอื่นที่สามารถใช้ประโยชน์เป็นทางเข้าออกของรถดับเพลิงได้ ไม่น้อยกว่า 12 เมตร ให้สามารถใช้ที่ดินนั้นเป็นที่ตั้งของอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษได้ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 3 เดือน นับจากวันที่หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องข้างต้นยกร่างเสนอแก้ไขกฎหมาย
5.แนวทางช่วยเหลือเรื่องการผ่อนชำระสินเชื่อของเจ้าของร่วมที่มีภาระผูกพันกับสถาบันการเงิน บริษัทได้ประสานงานกับสถาบันการเงินหลักหลายแห่งแล้ว โดยเจ้าของร่วมสามารถยื่นขออัตราดอกเบี้ยพิเศษ(Retention) ไปยังสาขาของสถาบันการเงินที่ขอสินเชื่อ ซึ่งผลการพิจารณาจะเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของสถาบันการเงินแต่ละแห่ง.-สำนักข่าวไทย