กรุงเทพฯ 10 ส.ค. – อธิบดีกรมชลประทาน สั่งการโครงการชลประทานทั่วประเทศพร้อมรับสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากจากฝนตกหนัก 12-18 ส.ค.นี้ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง 16 จังหวัดต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ขณะที่ 8 จังหวัดริมน้ำโขงต้องเฝ้าระวังระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นและอาจล้นตลิ่งบางพื้นที่ โดยเฉพาะ จ.นครพนม ย้ำประสานทุกหน่วยงานพร้อมเข้าช่วยเหลือประชาชน
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า สั่งการให้โครงการชลประทานทั่วประเทศเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำจากฝนตกหนักในช่วงวันที่ 12-18 ส.ค.นี้ สาเหตุจากร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านตอนบนของประเทศไทย เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.)
จากการประเมินปริมาณน้ำฝนคาดการณ์พบพื้นเสี่ยงน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากมี 61 อำเภอใน 16 จังหวัด ประกอบด้วย
1.ภาคเหนือได้แก่
– จังหวัดเชียงราย (อำเภอแม่จัน แม่สาย และแม่ฟ้าหลวง)
– จังหวัดเชียงใหม่ (อำเภออมก๋อย)
– จังหวัดตาก (อำเภอท่าสองยาง แม่สอด แม่ระมาด และอุ้มผาง)
– จังหวัดน่าน(อำเภอเมืองน่าน บ่อเกลือ ปัว เชียงกลาง ทุ่งช้าง เฉลิมพระเกียรติ และสองแคว) โดยเฉพาะจังหวัดน่านซึ่งปัจจุบันมีน้ำท่วมขังอยู่ในพื้นที่อำเภอเวียงสา อำเภอท่าวังผา และอำเภอแม่จริม ระดับน้ำจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก
2. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้แก่
– จังหวัดหนองคาย (อำเภอเมืองหนองคาย เฝ้าไร่ โพนพิสัย และรัตนวาปี)
– จังหวัดบึงกาฬ (อำเภอเมืองบึงกาฬ ปากคาด บุ่งคล้า เซกา ศรีวิไล พรเจริญ โซ่พิสัย และบึงโขงหลง)
– จังหวัดนครพนม (อำเภอเมืองนครพนม ท่าอุเทน ศรีสงคราม บ้านแพง นาทม และโพนสวรรค์)
– จังหวัดสกลนคร (อำเภอบ้านม่วง และอากาศอำนวย)
3. ภาคตะวันออกได้แก่
– จังหวัดระยอง (อำเภอเขาชะเมา บ้านค่าย แกลง และบ้านฉาง)
– จังหวัดจันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี ขลุง เขาคิชฌกูฏ และท่าใหม่)
– จังหวัดตราด (อำเภอเมืองตราด คลองใหญ่ บ่อไร่ แหลมงอบเขาสมิง เกาะกูด และเกาะช้าง)
4. ภาคใต้ได้แก่
– จังหวัดระนอง (อำเภอเมืองระนอง กะเปอร์ และกระบุรี)
– จังหวัดพังงา (อำเภอคุระบุรี และท้ายเหมือง)
– จังหวัดภูเก็ต (อำเภอเมืองภูเก็ต กะทู้ และถลาง)
– จังหวัดสตูล (อำเภอละงู)
– จังหวัดตรัง (อำเภอกันตัง สิเกา และปะเหลียน)
ดังนั้นจึงสั่งการให้เตรียมพร้อมดำเนินการตามแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก โดยพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษคือ พื้นที่ที่มีรายงานประสบอุทกภัย 6 จังหวัดประกอบด้วย ภาคเหนือได้แก่ จังหวัดตากและน่าน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้แก่ จังหวัดอำนาจเจริญ นครพนม อุดรธานี และอุบลราชธานี
นายประพิศกล่าวว่า กำชับให้โครงการชลประทานทุกแห่งติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบสภาพอาคารชลประทาน และจัดเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ในพื้นที่เสี่ยง หากมีกรณีฝนตกหนัก หรือลมกระโชกแรงจนส่งผลกระทบต่ออาคารชลประทาน และทรัพย์สินของทางราชการให้เข้าไปดำเนินการแก้ไขสถานการณ์โดยเร็ว บริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ เตรียมความพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ รถแบคโฮ/รถขุด รถเทรลเลอร์ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ เครื่องผลักดันน้ำในพื้นที่เสี่ยงให้สามารถนำไปช่วยเหลือได้ทันที
พร้อมกันนี้เน้นย้ำให้กักเก็บน้ำจากฝนที่ตกลงมาให้ได้มากที่สุดซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำส่งผลดีต่อสถานการณ์น้ำในภาพรวม ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการน้ำอย่างประณีต ให้มีน้ำต้นทุนสำรองไว้ใช้อย่างเพียงพอไปจนกว่าจะถึงฤดูแล้ง
นายประพิศกล่าวว่า ได้สั่งการให้โครงการชลประทานใน 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดตามที่กอนช. ออกประกาศเตือนเนื่องจาก มีปริมาณฝนตกหนักสะสมในลุ่มน้ำโขงตอนล่างและบริเวณแขวงบอลิคำไซ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ทำให้ระดับน้ำแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับอิทธิพลของหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและประเทศจีนตอนใต้ ทำให้ประเทศไทยโดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ส่งผลให้ระดับน้ำในจังหวัดแม่น้ำโขงตอนล่าง มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงวันที่ 10 – 15 ส.ค. ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี
สำหรับจุดเฝ้าระวังพิเศษคือ ในเขตพื้นที่จังหวัดนครพนม ปัจจุบันมีระดับน้ำต่ำกว่าระดับตลิ่ง 2.50 เมตร คาดการณ์ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้น 2.50 – 3.50 เมตร และคาดการณ์ระดับน้ำจะมีแนวโน้มล้นตลิ่ง ในช่วงวันที่ 11 – 15 ส.ค.
ส่วนที่สถานีเชียงแสน จังหวัดเชียงรายระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.40 – 0.60 เมตร สถานีเชียงคาน จังหวัดเลย คาดการณ์ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้น ประมาณ 2.00 – 2.50 เมตร สถานีหนองคาย จังหวัดหนองคาย คาดการณ์ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้น 2.50 – 3.50 เมตร สถานีมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร และสถานีโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี คาดการณ์ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้น 1.00 – 1.50 เมตร
ทั้งนี้กรมชลประทานเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ที่อาจมีผลกระทบต่อพื้นที่ในเขตสำนักงานชลประทานที่ 2 5 และ 7 ที่มีพื้นที่อยู่ติดกับแม่น้ำโขง เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยจัดเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ตรวจสอบอาคารชลประทานให้พร้อมใช้งาน บริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ และเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ รถแบคโฮ/รถขุด รถเทรลเลอร์ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ เครื่องผลักดันน้ำในพื้นที่เสี่ยงให้สามารถนำไปช่วยเหลือได้ทันท่วงที รวมถึงกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ
พร้อมทั้งบูรณาการร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ฝ่ายความมั่นคง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณริมแม่น้ำโขงได้รับทราบสถานการณ์อย่างต่อเนื่องและเตรียมพร้อมเข้าช่วยเหลือประชาชนทันที หากเกิดสถานการณ์.-สำนักข่าวไทย