กรุงเทพฯ 26 ก.ค. – อธิบดีกรมชลประทานสั่งเตรียมพร้อมตามแผนบริหารจัดการน้ำหลากใน 51 อำเภอ 23 จังหวัดตามประกาศกอนช. และการแจ้งเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยาว่า จะมีฝนตกหนักมากบางแห่ง จากมรสุมกำลังปานกลางที่พัดปกคลุม ประกอบกับร่องมรสุมที่พาดผ่านตอนกลางประเทศ ระหว่างวันที่ 25 ก.ค.-2 ส.ค. นี้
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานเปิดเผยว่า สั่งการให้โครงการชลประทานต่างๆ เตรียมความพร้อมรับมือฝนตกหนักมาก ตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เรื่อง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลาก รวมถึงจากการแจ้งเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยาที่ระบุว่า มรสุมกำลังปานกลางยังคงปกคลุมประเทศไทย ประกอบกับร่องมรสุมพาดยังคงพาดผ่านตอนกลางของประเทศซึ่งทำให้ฝนตกกระจายและตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
จากการประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก พบพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทันในช่วงวันที่ 28 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม 2566 รวม 51 อำเภอ 23 จังหวัด ดังนี้
1. ภาคเหนือได้แก่
– จังหวัดตาก (อำเภออุ้มผาง)
– จังหวัดอุทัยธานี (อำเภอบ้านไร่)
2. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้แก่
– จังหวัดชัยภูมิ (อำเภอเกษตรสมบูรณ์)
-จังหวัดหนองคาย (อำเภอเมืองหนองคาย)
– จังหวัดบึงกาฬ (อำเภอเซกาและบึงโขงหลง)
– จังหวัดนครพนม (อำเภอท่าอุเทนและศรีสงคราม)
– จังหวัดสกลนคร (อำเภอโคกศรีสุพรรณ)
– จังหวัดร้อยเอ็ด (อำเภอเสลภูมิและโพนทอง)
– จังหวัดบุรีรัมย์ (อำเภอนางรอง)
– จังหวัดสุรินทร์ (อำเภอชุมพลบุรี)
– จังหวัดศรีสะเกษ (อำเภอภูสิงห์ ขุขันธ์ ขุนหาญ และปรางค์กู่)
– จังหวัดอุบลราชธานี (อำเภอบุณฑริก)
3. ภาคตะวันออกได้แก่
– จังหวัดฉะเชิงเทรา (อำเภอท่าตะเกียบ)
– จังหวัดชลบุรี (อำเภอบ่อทอง)
– จังหวัดระยอง (อำเภอเขาชะเมา บ้านค่าย แกลง และบ้านฉาง)
– จังหวัดจันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี ขลุง มะขาม เขาคิชฌกูฏ ท่าใหม่ โป่งน้ำร้อน แก่งหางแมว และนายายอาม)
– จังหวัดตราด (อำเภอเมืองตราด บ่อไร่ เกาะช้าง แหลมงอบ และเขาสมิง)
4. ภาคใต้ได้แก่
– จังหวัดระนอง (อำเภอเมืองระนอง กะเปอร์ และกระบุรี)
– จังหวัดพังงา (อำเภอเมืองพังงา คุระบุรี ตะกั่วป่า และท้ายเหมือง)
– จังหวัดภูเก็ต (อำเภอเมืองภูเก็ต กะทู้ และถลาง)
– จังหวัดกระบี่ (อำเภอเมืองกระบี่)
– จังหวัดสุราษฎร์ธานี (อำเภอบ้านตาขุนและพนม)
– จังหวัดนครศรีธรรมราช (อำเภอช้างกลาง)
อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า ได้เน้นย้ำให้เตรียมพร้อมตามแผนบริหารจัดการน้ำหลาก โดยจัดเครื่องจักรเครื่องมือ จัดเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ในพื้นที่เสี่ยง กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตรในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ หรือพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทัน
หากมีกรณีฝนตกหนัก หรือลมกระโชกแรงจนส่งผลกระทบต่ออาคารชลประทาน และทรัพย์สินของทางราชการให้เข้าไปดำเนินการแก้ไขสถานการณ์โดยเร็ว รวมทั้งกำชับเจ้าหน้าที่ให้ติดตาม ตรวจสอบอาคารชลประทานให้มีสภาพพร้อมใช้งาน
พร้อมกันนี้ได้กำชับให้บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม ปรับการระบายน้ำให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ แจ้งเตือนประชาชนเพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำ รวมถึงบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ ให้พร้อมช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์น้ำจากหน่วยงานราชการ หรือสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมชลประทาน 1460 .- สำนักข่าวไทย